“การระดมทุนใน ตลาดหุ้นไทย อยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาทสะท้อนว่า ตลาดทุนยังเป็นตลาดที่ดี” นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าวถึงความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ไทยที่สามารถต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 และยังทำให้บริษัทใหม่ๆ ที่อยากจะเข้ามาจดทะเบียนต้องชะลอไปก่อน เพราะขั้นตอนต่างๆ ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะการโรดโชว์ ที่นำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุน แต่ต้องพักไว้ก่อน เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม
หลังการปลดล็อคให้ทำกิจกรรมได้ จากสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้บริษัทที่ต้องการระดมทุน เริ่มทยอยเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(ไอพีโอ) โดยตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 มีการเสนอขายไอพีโอทั้งหมด 25 ราย แบ่งเป็นการระดมทุนในตลท.(SET) 12 ราย, ตลาดหลักทรัพย์ฯ mai 11 ราย, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) 1ราย และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PFUND/REIT) 1 ราย มูลค่าระดมทุนรวม 126,719.88 ล้านบาทและมูลค่าหลักทรัพย์(มาร์เก็ตแคป) ณ ราคาไอพีโอ อยู่ที่ 500,080.61 ล้านบาท สูงกว่าปี 2562 ที่มีมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอที่ 383,749.07 ล้านบาท จากการเข้าระดมทุนใหม่รวม 37 ราย
สำหรับหุ้นไอพีโอที่่น่าจับตาในช่วงที่เข้าซื้อขายคือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) จากการเสนอขายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยมูลค่าระดมทุน 55,902.00 ล้านบาท และมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอที่ 253,302 ล้านบาท ทำให้ CRC ได้เข้าคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เพราะมีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 1% ของมาร์เก็ตแคปรวม
ขณะที่ หุ้นอีกบริษัทที่มาแรงไม่แพ้กันคือ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (STGT) ที่เริ่มซื้อขายเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 หลังการคลายมาตรการล็อคดาวน์ แต่ยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ ส่งผลให้ราคาหุ้น STGT ซึ่งผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ทะยานขึ้นกว่า 60.50 บาท หรือ 177.94% อยู่ที่ 94.50 บาท จากราคาไอพีโอที่ 34.00 บาท และ ณ วันที่ 15 ธันวาคม อยู่ที่ 71.25 บาท เพิ่มขึ้น 37.25 บาท หรือ 109.55% เมื่อเทียบกับราคาไอพีโอ
นอกจากนั้น หุ้นที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) บริษัทลูกของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) ที่เริ่มซื้อขายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ด้วยมูลค่าระดมทุน 39,464.25 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโออยู่ที่ 148,874.25 ล้านบาท โดยราคาหุ้นได้ปรับขึ้นสูงสุดที่ 44.50 บาท เพิ่มขึ้น 9.50 บาท หรือ 27.14% จากราคาไอพีโอที่ 35.00 บาท ล่าสุด ฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) ได้ประกาศให้ SCGP เข้าคำนวณ FTSE SET Index Series ในกลุ่มดัชนี FTSE SET Large Cap Index มีผลวันที่ 21 ธันวาคม 2563
ขณะเดียวกัน ยังมีบริษัทที่อยู่ระหว่างรอเข้าจดทะเบียน ที่มีรายชื่อปรากฏในเว็บไซต์ตลท. 22 ราย ซึ่งมีบริษัทที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนคือ บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ล่าสุดได้ยื่นแก้ไขปรับปรุงข้อมูลแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ปรับสัดส่วนการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ OR และอนุมัติการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนของ OR โดยจะเพิ่มจำนวนหุ้นเพื่อการจัดสรรหุ้นส่วนเกินเป็น 390 ล้านหุ้น จากจำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น และลดสัดส่วนการจัดสรรหุ้นไอพีโอเหลือ 2,610 ล้านหุ้น จากจำนวนไม่เกิน 2,700 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ การซื้อขายผ่านออนไลน์ที่เติบโตสูงในปัจจุบัน สนับสนุนบริการขนส่งสินค้าให้เติบโตตาม ล่าสุดผู้นำด้านการให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนของไทยอย่าง บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KEX)เตรียมขายหุ้นไอพีโอ 300 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 28 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นหุ้นละ 25-28 บาท และเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 8, 9 และ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา คาดว่า จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 24 ธันวาคม 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผวาโควิดรอบสอง หุ้นไทยปิดทรุด 80.60 จุด
บล.ทิสโก้ชี้ จังหวะช้อนซื้อ หลังหุ้นย่อตัวรับข่าว COVID รอบใหม่
กลุ่มสมวัฒนายัน ปฎิบัติตาม MOU กับ สิงห์ เอสเตท ครบถ้วน
ฟันธง ปีหน้าต่างชาติหอบเงินซื้อหุ้นไทย
หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,637 วันที่ 20 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563