การระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา กระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรง รวมถึงค่าเงินบาทเอง ก็ผันผวนรุนแรงไม่ต่างกัน แม้ช่วงแรกเงินบาทจะอ่อนค่าลงมากจากที่นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่น แต่เมื่อเริ่มคลี่คลายลงและมีการค้นพบวัคซีนและชัยชนะของโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทแข็งค่าตํ่ากว่า 30 บาทต่อดอลลาร์อยู่หลายครั้ง และแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเปิดศักราชใหม่ ปี 2564
เงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 29.84 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อ 5 มกราคม และสัปดาห์แรกของปี บาทแข็งค่าเล็กน้อยที่ 0.03% จากระดับ 29.95บาท/ดอลลาร์ในสิ้นปี 2563 เป็นระดับ 29.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 7 มกราคม และมีโอกาสแข็งค่าต่อด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างและเทรนด์ดอลลาร์อ่อนค่า โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)สะท้อนความกังวลเงินบาทแข็ง ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามสร้างระบบนิเวศของอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) ให้เกิดสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้าและไหลออกซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างในระยะยาวล่าสุดธปท. ดำเนินการเพิ่มเติม 2 เรื่องคือ 1.ผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินบาทให้กับนิติบุคคลต่างประเทศที่เข้าโครงการ NRQC (Non-resident Qualified Company)และ 2.ปรับลดวงเงินคงค้างการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทแบบไม่มีภาระ หรือไม่มี Underlying รองรับให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ(NR) ไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR ต่อสถาบันการเงิน จากเดิม 600 ล้านบาท ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ทั้ง 2 มาตรการเป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ส่งผลต่อทิศทางค่าเงินบาทในระยะสั้น
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการของธปท.เป็นเครื่องมือที่ดี แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีเดิมๆ ซึ่งนอกจากธปท.ต้องประสานกระทรวงการคลังและสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยไม่ปิดความเสี่ยง และเพื่อบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ ด้วยการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพราะหากกองทุนกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ แต่ปิดความเสี่ยงค่าเงิน จะยิ่งทำให้ทิศทางเงินบาทแข็งค่า
“สิ่งที่แตกต่างจากที่เราคิดคือ ที่เราคิดว่า เงินบาทจะแข็งค่าเร็ว เงินร้อนที่จะไหลเข้าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคือ มาตรการล็อคดาวน์ในต่างประเทศ อาจจะกระทบกับทั้งความกังวลเรื่องสภาพคล่องในรูปของดอลลาร์สหรัฐ หรือการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวอาจสะดุดได้ เพราะการบริโภคที่ลดลงจากต่างประเทศ ดังนั้น ทั้ง 2 ปัจจัย อาจจะกระทบเรื่องฟันด์โฟล์และการเกินดุลการค้าไม่ดีอย่างที่คาด ซึ่งต้องระวังในช่วงไตรมาสแรก”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่า ส่วนตัวจึงแนะนำให้ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะการปิดความเสี่ยงอย่างน้อย แม้จะ Loss ก็อาจจะเกิดบนสัญญาฟอร์เวิร์ด แต่แลกมากับเงินที่จะได้รับ ซึ่งผู้ส่งออกสามารถแลกทำฟอร์เวิร์ดบ้าง ออฟชั่นชั่นและปล่อยบางส่วนไว้
สำหรับประเด็นความเสี่ยงไตรมาสแรกชัดขึ้น นำโดยโควิด-19 ที่ระบาดหนักทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศ ถ้าใช้มาตรการล็อกดาวน์เศรษฐกิจชะลอแน่ เช่น ที่ผ่านมา ยุโรป สหรัฐ และตลาดมีความผันผวน ซึ่งปัจจัยนี้ทำให้การบริโภคภายในประเทศที่โดนกดดันอยู่แล้ว ทั้งจากคนตกงานและหนี้ครัวเรือน แต่ในแง่ความรู้สึกคนอาจจะมีความหวังกับวัคซีน แต่ยังต้องติดตามการแจกจ่ายวัคซีนตอนไหน และเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะอยู่ได้นานแค่ไหน หากทำได้เร็ว นักท่องเที่ยวไตรมาส 4 และปัจจัยเสี่ยงจากการเมืองสหรัฐ ซึ่งต้องติดตามนโยบายเพิ่มเติม หากสหรัฐทำนโยบายใหญ่และธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อัดคิวอี อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทแข็งค่าต่อ
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์(SCBS)กล่าวว่า ผลจากเงินบาทแข็งค่าช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีกลุ่มนํ้าตาล ออกมาบ่นบ้างแต่ยังทำกำไรได้ ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้นำเข้ามีปริมาณธุรกรรมไม่มาก เนื่องจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 และความไม่ชัดเจนในการบริโภคแต่ละประเทศ และส่วนหนึ่งเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากซึ่งยังมองเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าที่ระดับ 29.25-29.30 บาทในไตรมาสแรกของปีนี้ ขึ้นกับเงินทุนไหลเข้า ภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ การเมืองในสหรัฐจะดำเนินมาตรการไหนออกมาไม่ว่ามาตรการการค้ากับพันธมิตร จีนและความตกลงสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP นอกจากนี้ความกังวลเงินเฟ้อ เนื่องจากราคานํ้ามันกลับมาสู่ระดับช่วงก่อนโควิด แนวโน้มราคาอาจปรับขึ้นราคาสินทรัพย์โภคภัณฑ์ทั่วโลก
ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,643
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
4ปัจจัยชี้ทิศค่าเงินบาท ระหว่างวันที่ 18-22ม.ค. เคลื่อนไหวในกรอบ 29.80-30.20บาท/ดอลลาร์
กสิกรไทยจับทิศค่าเงินบาทปี 2564
“สสว.” ขยายเวลาโครงการสร้างความรู้อัตราแลกเปลี่ยนรับมือเงินบาทแข็ง