ศูนย์วิจัยกรุงศรีปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี2564โดยปรับลดลง 0.8% เหลือ 2.5%จากเดิมคาดไว้ที่ 3.3% เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบใหม่ โดยพิจารณาทบทวนในประเด็น การบริโภคภาคเอกชนปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเหลือ 1.8% จากเดิมอยู่ที่ 2.5% เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในไตรมาสแรกหดตัวลงแรงเนื่องจากการล็อคดาวน์บางส่วน มีการใช้นโยบายการทำงานจากที่บ้านและการรักษาระยะห่างทางสังคม ขณะที่อัตราการว่างงานและหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะจำกัดอัตราการเติบโตของภาคการบริโภคอย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนทั้งปี 2564 จะยังปรับดีขึ้นจากปีที่แล้ว ผลจาก 1. มาตรการภาครัฐหนุนการใช้จ่ายมากขึ้น 2. กำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางถึงบนยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และ 3. การฉีดวัคซีน COVID-19 และการระบาดที่ควบคุมได้จะสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะต่อไป
ด้านการส่งออก คาดว่าจะเติบโตได้ 3.8% จากเดิมคาด 4.5% สะท้อนถึงผลเชิงลบที่ค่อนข้างจำกัด ทั้งจากการหยุดชะงักของภาคการผลิตบางส่วน และภาวะการขาดแคลนของตู้คอนเทนเนอร์ชั่วคราว แต่การส่งออกจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจาก 1. อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการทำงานจากที่บ้าน และเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรค COVID 2. สัญญาณการฟื้นตัวตามวัฏจักรของภาคการผลิตทั่วโลกนำโดยการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศแกนหลักท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และ 3. ในระยะปานกลางการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในอาเซียนและการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization) นับเป็นโอกาสที่จะเอื้อการเติบโตแก่ภาคส่งออก
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัว2.9%ลดลงจากเดิมคาด3.2%ผลกระทบจากการหดตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสแรก รวมถึงการส่งออกชะลอลงกว่าคาดเล็กน้อย และภาคการผลิตที่อาจสะดุดลงในบางพื้นที่ในช่วง2 เดือน แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
ขณะที่ภาคท่องเที่ยว ยังคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 4.0 ล้านคนในปี 2564 เทียบกับ 6.7 ล้านคนในปี 2563 เนื่องจากยังมีปัญหาการระบาดของโรคCOVID-19 รอบใหม่ในหลายประเทศ และมาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลกทั้งนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เมื่อมีการฉีดวัคซีนกระจายเป็นวงกว้างทั่วโลก
ภายใต้การล็อกดาวน์บางส่วนเป็นเวลา 2 เดือน คาดว่าอัตราการเติบโตของGDP ปี 2564 จะลดลง 0.8%เหลือ 2.5%แม้ว่าผลกระทบจากการระบาดของโรคCOVID-19 คาดว่าจะทำให้การเติบโตของ GDP หายไป2.0% แต่มาตรการจากภาครัฐอาจช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจราว1.2% ซึ่งอยู่บน 3สมมติฐาน ได้แก่ 1. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเป็นไปตามคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่มีการดำเนินมาตรการล็อคดาวน์บางส่วนเป็นเวลาสองเดือนซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 2. มาตรการภาครัฐคาดว่าจะมีการใช้วงเงินราว 2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดใหญ่ในไตรมาสแรกของปีนี้ และเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภายหลัง และ 3. แผนการฉีดวัคซีนป้องกันCOVID-19 เป็นไปตามเป้าหมายที่ทางการระบุว่าจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์และจะครอบคลุมคนไทยได้ครึ่งหนึ่งภายในสิ้นปีนี้คาด GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้ อาจหดตัว -4.0% YoY ภาวะชะงักงันของภาคการผลิตและการลดลงของอุปสงค์ในรอบนี้คาดว่าจะรุนแรงน้อยกว่าการระบาดในรอบแรก
การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นผลให้ GDP ในไตรมาสแรกของปี คาดว่าจะหดตัว -4.0% YoY ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ -2.2% แต่มองผลกระทบของการระบาดในรอบนี้จะรุนแรงน้อยกว่าในรอบแรก (GDP ไตรมาส 2/2563 -12.1% YoY) เนื่องจาก (1.) คาดว่ารัฐบาลจะล็อคดาวน์เพียงบางส่วน ในบางจังหวัด และไม่มีเคอร์ฟิวในรอบนี้ซึ่งต่างจากการล็อคดาวน์ทั่วประเทศพร้อมกับมีเคอร์ฟิวส์เป็นเวลาหลายเดือนในการระบาดรอบแรก ซึ่งหมายถึงผลกระทบเชิงลบที่จะจำกัดกว่าในรอบนี้ ทั้งการหยุดชะงักของภาคการผลิตในประเทศและการชะลอตัวของอุปสงค์ (2.) ภาวะชะงักงันของภาคการผลิตทั่วโลกในขณะนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าปีก่อน และ (3.) จากเหตุผลข้างต้นสะท้อนว่าผลกระทบต่อรายได้ (หรือผลของตัวทวีคูณ) น่าจะเป็นลบน้อยกว่าการระบาดในรอบแรก