การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ตลาดประกันภัยคึกคักขึ้นอีกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพราะการระบาดรอบนี้เป็นการระบาดในประเทศ โดยมีจุดศูนย์กลางที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครก่อนจะกระจายไปกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 12,000 ราย ซึ่งนอกจากการป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ติดเชื้อแล้ว การซื้อประกันหรือประกันโควิดยังเป็นอีกทางที่จะแบ่งเบาภาระได้ หากเกิดการติดเชื้อขึ้น
นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วง 2 สัปดาห์แรกในเดือนมกราคม ลูกค้าสนใจซื้อประกันภัยโควิด-19 แล้ว 1 แสนกรมธรรม์ สะท้อนความต้องการซื้อที่คึกคัก แต่อาจไม่มากเท่ากับการระบาดรอบแรก โดยผลตอบรับส่วนใหญ่เป็นกรมธรรม์รายบุคคลมากกว่าแบบกลุ่มและเป็นลูกค้ารายใหญ่ในสัดส่วนราว 70% ที่เหลือเป็นลูกค้าเก่า ซึ่งอาจจะยังไม่ครบรอบของการต่ออายุ เพราะปีก่อนเริ่มซื้อกรมธรรม์เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2563
“ช่วงนี้บริษัทเน้นทำตลาดออนไลน์ เพราะอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง แต่สามารถทำตลาดครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงตามทางการกำหนดได้ ดังนั้นเรายังให้บริการลูกค้าทุกพื้นที่ โดยตั้งเป้ายอดขายประกันภัยโควิดทั้งปีไว้ที่ 500-600 ล้านบาท เพราะมีคู่เทียบเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเรายังทำโครงการ คนละครึ่งสู้ภัยโควิด ซึ่งผู้ซื้อจ่ายเพียง 75 บาทจากเดิม 150 บาท โดยบริษัทจ่ายแทนรัฐ ทุนประกันภัยสูงสุด 1 แสนบาท ค่ารักษาพยาบาล 1 หมื่นบาทต่อปีและจำกัดไว้ 1 ล้านสิทธิ์ภายในสิ้นเดือนนี้เท่านั้น”
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวว่า รูปแบบกรมธรรม์โควิดปีนี้มีหลายแบบ โดยให้ความคุ้มครองเพิ่มขึ้น แม้อัตราค่าเบี้ยต่อกรมธรรม์จะปรับสูงเป็น 600, 800, หรือ 1,000 บาท จากเดิมเริ่มต้นไม่ถึง 100 บาทและราคาไม่ถึง 1,000 บาทนั้น แต่หากพิจารณาความคุ้มครองจะเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยเบี้ยถูกลง ทำให้ตลาดสามารถแข่งขันได้ และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงทุกกรมธรรม์
ส่วนความสนใจซื้อยังเกาะกลุ่มรายบุคคลมากกว่า ส่วนหนึ่งเพราะมีความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ ทำให้ภาพรวมคนส่วนใหญ่มีการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น แต่ยังคงเดินทาง สัญจร ด้วยความระมัดระวังตัวมากขึ้น สำหรับกรมธรรม์แบบประกันกลุ่มนั้นจะคุ้มครองโควิดอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นคือ จำนวนผู้ติดเชื้อบางเบาลงหรือการแพร่ระบาดไม่กระจายไปในวงกว้าง อาจทำให้ทางการพิจารณาแพ็กเกจ รับนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้บางส่วน ซึ่งเวลานี้ทางการทยอยตรวจสอบเข้มงวดระดับหนึ่ง จึงทำให้พบผู้ติดเชื้อเกาะกลุ่มเฉพาะบางพื้นที่ จึงหวังว่าถ้าการระบาดลดลงภาพรวมภาคธุรกิจประกันภัยจะได้รับอานิสงส์จากเบี้ยประกันภัยนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม
สำหรับการระบาดของโควิดรอบนี้ แหล่งข่าวในวงการประกันวินาศภัยระบุว่า รูปแบบประกัน “เจอจ่ายจบ” ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค แต่กรมธรรม์ลักษณะนี้มีความเสี่ยงในแง่การทำตลาดของบริษัทประกันภัยจะต้องคำนึงถึงสถานะความเพียงพอของเงินกองทุนด้วย เพราะกรมธรรม์ “เจอจ่ายจบ” นอกจากบริษัทไม่สามารถประเมินภัยสะสม ซึ่งไม่แสดงอาการแล้ว ในอนาคตข้างหน้ายังไม่รู้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะขยายวงกว้างหรือไม่ ซึ่งหากเกิดการระบาดเหมือนอินเดีย หรือในสหรัฐที่ผ่านมา บริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยทันที จึงเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดเดาได้
“ส่วนตัวมองว่า กลยุทธ์การทำตลาดเจอจ่ายจบนั้นสามารถทำได้ในวงจำกัดคือ บริษัทหนึ่งไม่ควรรับประกันภัยในปริมาณมาก เพราะเรารู้แต่คนเจ็บ คนเสียชีวิต แต่คนป่วยที่ไม่แสดงอาการเราไม่มีการเฟ้นได้เลย หากเจอก็ต้องจ่าย หรือหากผู้ป่วยต้องมีค่ารักษาพยายาบาลและการเสียชีวิต แต่สำหรับผู้ซื้อสามารถตัดสินใจซื้อได้ทันที เพราะเชื่อว่า แต่ละบริษัทต้องอั้นหรือจำกัดกรมธรรม์ที่จะเปิดขาย เช่น ขายกรมธรรม์ไป 1 ล้านฉบับหากเจอ จ่าย จบสัก 3 แสนฉบับทำให้บริษัทเดือดร้อนได้”
ด้านบมจ.เมืองไทยประกันชีวิต(MTL)ให้ความคุ้มครองพิเศษเพิ่มเติมโควิด-19 ทั้งลูกค้าที่มีกรมธรรม์ประกันรายบุคคลและประกันกลุ่ม กรณีติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 (อายุไม่เกิน 70 ปี) รับเงิน 1 แสนบาทหรือชดเชยรายวัน กรณีรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล 1,000 บาท/วัน( ไม่เกิน 30 วัน) ความคุ้มครองพิเศษเพิ่มเติมนี้จะมอบให้ลูกค้าที่ดาวน์โหลดและเพิ่มกรมธรรม์ในแอปพลิเคชัน MTL Click ภายใน 31 มกราคม 2564
ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รับมือไวรัส Covid-19 โรคร้ายที่คาดไม่ถึง
ธนชาตผนึกคปภ. คุ้มครองลูกค้า ฟรี “ประกันภัยกลุ่มปีใหม่ นิวนอร์มอลพลัส”