เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและการคลังเข้ามาช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดลงมาก ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ และน่าจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย เพื่อฟื้นฟูผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ ทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งแรกของปี 2564 ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ถูกจับตามอง
ทั้งนี้เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดประมาณการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ปี 2564 เหลือขยายตัว 3.2% จากประมาณการเดิมที่ 3.6% สาเหตุหลักจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดเหลือเพียง 5.5 ล้านคน และสำนักวิจัยเอกชนหลายแห่งเองก็ปรับลดประมาณการจีดีพีทั้งปีลงเฉลี่ย 2.4% ขณะที่มาตรการภาครัฐ อย่างโครงการ “เราชนะ” คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2.1 แสนล้านบาท มีผลต่อจีดีพีราว 0.5-0.6% และเมื่อรวมกับโครงการคนละครึ่ง คาดว่า จะมีผลต่อจีดีพีราว 1% ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลสนับสนุนให้กนง.เสียงแตกในการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายจากที่ระดับ 0.50% ได้
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มจะชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ที่ 2.6% ทำให้ต้องอาศัยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.25% ในปีนี้ ปัจจัยสำคัญคือ การระบาดของโควิดรอบใหม่ ทำให้กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ การเดินทางข้ามจังหวัดและการท่องเที่ยวในประเทศหดหาย
“ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะวันนี้ในตลาดมีสภาพคล่องส่วนเกินเยอะมาก แต่สภาพคล่องดังกล่าวยังไปไม่ถึงระดับล่างและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถ้าอ่านใจผู้ว่าการธปท.พยายามจะแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่ต้องการหว่านแห เช่น อัดฉีดซอฟต์โลนด้วยการคลายกฎเกณฑ์ เพื่อให้เงินไปสู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มากขึ้น หรือหากมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ก็อาจจะใช้มาตรการที่ทำกันอยู่ ทั้งพักชำระหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือลดดอกเบี้ยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ”
ดังนั้นหากไม่กระทบธนาคารพาณิชย์ ในการประชุมกนง.วันที่ 3 ก.พ.นี้ กนง.อาจจะเลือกใช้วิธีการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ถ้าแก้ปัญหายังไม่ได้หรือไตรมาส1 เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ค่อยไปลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมกนง.เดือนมีนาคม
“ใจผมอยากเห็นกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้ เพราะต้องใช้เวลากว่าจะส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยให้แบงก์ในระบบ โดยมองว่า นโยบายการคลังที่แจกเงิน 3,500 บาทเป็นเวลา 2 เดือนหรือมาตรการช่วยเหลือเอื่นอาจจะไม่เพียงพอในการประคองประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นนโยบายการเงินต้องเป็นกองหน้า”
สอดคล้องกับนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า กนง.ยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย หากจีดีพีปีนี้ทั้งปีเติบโต 2% ขึ้นไป ยกเว้นถ้าจีดีพีขยายตัวต่ำกว่า 2% จึงจะมีการนำเรื่องการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมาพิจารณา แต่ต้องเปรียบเทียบกับการลดเงินนำส่งสมทบกองทุนฟื้นฟูฯว่า อะไรดีกว่ากัน เพราะกนง.ยังมีทางเลือกที่จะใช้เครื่องมือ ซึ่งส่วนตัวสนับสนุนกนง.ปรับลดอัตราเงินนำส่งสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพราะเกรงว่า ถ้ากนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เงินฝากในระบบธนาคารจะยิ่งเติบโตขึ้น
“ผมมองว่าวันที่ 3 ก.พ. กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบาย แต่อาจเสียงแตก และการลดอัตราเงินนำส่งสมทบกองทุนฟื้นฟูเป็นภาพที่สมเหตุผล เพราะที่ผ่าน มาธปท.ผ่อนปรนให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯจาก 0.46% เหลือ 0.23% ต่อปี สามารถส่งผ่านให้แบงก์ลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าได้เลย แต่ถ้ากนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็ควรจะพิจารณาไตรมาสแรก เพราะไม่งั้นจะไม่ทัน Cycle ของเศรษฐกิจ”
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,648 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สศค.หั่นเป้าเศรษฐกิจปีนี้โต 2.8% ปี63 คาด -6.5% จับตา"คุมโควิด-วัคซีน"
EIC ปรับลดคาดการจีดีพีไทยปี2564 เหลือโต 2.2%