GameStop สงคราม(หุ้น)ประชาชน 

01 ก.พ. 2564 | 05:22 น.

โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้า 

 

ปรากฏการณ์หุ้น GameStop (GME) ปรับตัวขึ้นจากราคาประมาณ 17 เหรียญตอนต้นปีเป็น 325 เหรียญในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2564 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 19 เท่าในเวลาเพียงเดือนเดียวนั้น  เป็นข่าวที่ดังไปทั่วอเมริกาและทั่วโลกและไม่ใช่เฉพาะในตลาดหุ้นเท่านั้น ว่าที่จริงย้อนหลังไปเพียง 1 ปี  หุ้นตัวนี้มีราคาแค่ประมาณ 4 เหรียญ ซึ่งเท่ากับว่าคนที่ถือหุ้นตัวนี้จะได้กำไรถึง 80 เท่าในเวลาเพียง 1 ปี  และ Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 680,000 ล้านบาท จากมูลค่าประมาณ 8,500 ล้านบาทเมื่อ 1 ปีก่อน

           

GME เป็นบริษัทขายปลีกวิดีโอเกมและอุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก  มีสาขาประมาณ 5,500 แห่งทั่วสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงประมาณเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาบริษัทก็ขาดทุนมาตลอดเนื่องจากธุรกิจถูก Disrupt เพราะผู้บริโภคหันมาซื้อเกมออนไลน์แทนที่จะไปซื้อแผ่นที่ร้าน  ราคาหุ้น GME เมื่อประมาณ 7 ปีก่อนที่อยู่ที่ประมาณ 55 เหรียญต่อหุ้นจึงตกต่ำลงมา อย่างต่อเนื่อง  ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เฮดจ์ฟันด์ขายชอร์ตหุ้นตัวนี้มาเรื่อย ๆ จนถึงเมื่อเร็ว ๆ  นี้ ซึ่งทำให้มีรายการขายชอร์ตค้างอยู่ถึง “ร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์” ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ซึ่งหมายความว่าหุ้นบางหุ้นถูกยืมมาขายมากกว่า 1 ครั้ง และคนที่ขายชอร์ตหุ้นตัวนี้  ซึ่งมักจะเป็นเฮดจ์ฟันด์ผู้เชี่ยวชาญการชอร์ตหุ้นก็คงทำกำไรไปไม่น้อยมาตลอด

           

การระบาดของโควิด-19 เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิด “นักลงทุนรุ่นใหม่” จำนวนมากที่มาจากคนที่ตกงานและคนที่ต้องทำงานที่บ้าน  พวกเขาไม่ค่อยได้ไปไหนและไม่มีงานทำมากนักแต่ยังต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  ในเวลาเดียวกันนั้น  ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์กลับปรับตัวขึ้นแรงและเร็วมาก  อานิสงค์จากสภาพคล่องทางการเงินที่ล้นเหลือเนื่องจากการอัดฉีดของรัฐบาลเข้าสู่ระบบเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ตามมาจากโควิด  ทำให้ดูเหมือนว่าการหาเงินจากตลาดหุ้นจะง่ายและเร็วกว่าการทำอย่างอื่น  ดังนั้น  คนหนุ่มสาวเหล่านี้จึงเข้ามาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นที่ทำได้ง่ายมากเนื่องจากระบบที่เอื้ออำนวยให้กับนักลงทุนรายย่อยเช่น  Platform การซื้อขายหุ้นอย่าง Robinhood ที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยมากไม่ว่าจะซื้อหรือขายกี่หุ้น

           

คนหนุ่มสาวที่เข้ามาลงทุนหรือ “เล่นหุ้น” นั้น  ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความรู้หรือข้อมูลที่จะช่วยตัดสินใจซื้อขายหุ้นมากนัก  แต่ขณะเดียวกัน  พวกเขาก็หวังที่จะเทรดหุ้นหรืออ็อปชั่นที่มีราคาผันผวนมาก ๆ  เพื่อให้ได้กำไรเร็วและมากที่สุด  ดังนั้น  สิ่งที่เขาทำก็คือการเข้าไปในเว็บไซ้ต์ยอดนิยมอย่าง Reddit และเข้าไปดูหรือพูดคุยในห้องที่เกี่ยวกับการเทรดหรือซื้อขายหุ้นแนวเก็งกำไรที่ชื่อว่าWallstreetBets  และสิ่งที่เขาพบเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือการพูดคุยคอมเม้นต์หุ้นตัวหนึ่งที่ชื่อว่า GameStop ที่หลายคนมีความเห็นว่าน่าสนใจและ “น่าเล่น” แต่สิ่งที่น่าจะเป็นตัว “จุดชนวน” ให้หุ้นตัวนี้  “ระเบิด” หรือราคาวิ่ง “ทะลุฟ้า” ก็คือการที่มีคนออกมาโพสท์ว่าหุ้น GME นั้นมีการชอร์ตไว้เกินกว่าจำนวนหุ้นที่มีคือประมาณ 70 ล้านหุ้น  และนี่น่าจะประกอบกับการที่ Ryan Cohen อดีตผู้ก่อตั้งบริษัท Chewy ที่ขายปลีกสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงผ่านออนไลน์ได้สำเร็จ  ได้เข้ามาซื้อหุ้นกว่า 10% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และได้เป็นกรรมการของบริษัทในวันที่ 11 มกราคมและบอกว่าจะปรับให้ GME ขายออนไลน์แบบเดียวกัน           
 

สิ่งที่คนใน WallstreetBets ซึ่งมีจำนวนสมาชิกถึง 3 ล้านราย “บอกต่อ ๆ  กัน” ก็คือ  หุ้น GME นั้น  ที่ไม่ได้ไปไหนเลยและทำให้รายย่อยที่เล่นขาดทุนหนักเพราะถูกพวกขาใหญ่หรือเฮดจ์ฟันด์ ขายชอร์ตเซลอย่างหนัก  การที่จะต่อสู้หรือ “แก้แค้น” กับคนพวกนี้ก็คือ  พวกเราต้องซื้อหุ้นและไม่ให้ใครยืม  ซื้อไปเรื่อย ๆ  และเมื่อราคาขึ้นไปถึงจุดหนึ่งคนที่ชอร์ตไว้ก็จะต้องมาซื้อหุ้นคืน  แต่จะซื้อได้อย่างไรถ้าจำนวนหุ้นที่มีอยู่มีไม่พอ  ผลก็คือ  ราคาหุ้น GME ปรับตัวขึ้นไปเป็นร้อย ๆ  เปอร์เซ็นต์ต่อวันและขึ้นไปเรื่อย ๆ  ภายในเวลา 10 วันหุ้นขึ้นไป 10 เท่า  สิ่งนี้ในภาษาของชาวหุ้นก็คือการทำ “Short Squeeze” คนที่ขายชอร์ตหุ้นไว้ต้องซื้อหุ้นคืนในราคาแพงขึ้นไปเรื่อย ๆ  เพื่อ “หนีตาย” คนที่ขายชอร์ตหุ้นไปในราคา 30 เหรียญอาจจะต้องซื้อคืนในราคา 300 เหรียญ “เจ๊ง” ไปตาม ๆ กัน  กองทุนเฮดจ์ฟันด์บางกองต้องปิดตัวลง  เซียนชอร์ตเซล เช่น Citron Research ซึ่งเคยสร้างชื่อไว้มากมายในการชอร์ตหุ้นและได้เข้ามาชอร์ต GME ด้วยก็เจ็บตัวอย่างหนัก  และผู้บริหารบอกว่า  “ขาดทุน 100%” โดยรวมแล้ว  คนที่ทำชอร์ตหุ้น GME ขาดทุนไปประมาณ 150,000 ล้านบาท

           

ความสำเร็จของการ “ต่อสู้” ของนักเล่นหุ้นรายย่อยในกรณีของหุ้น GME เริ่มลามต่อไปในหุ้นตัวอื่น ๆ  ที่อาจจะมีคุณลักษณะคล้าย ๆ  กัน ตัวอย่างเช่น หุ้น AMC ที่ทำโรงหนังและหุ้นตกย่ำแย่เนื่องจากโควิด-19 ซึ่งผลก็คือ หุ้นขึ้นจาก 5 เป็น 20 เหรียญ ในที่ 27 มกราคม 64 หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าในวันเดียว  เช่นเดียวกับหุ้นอย่างผู้ผลิตโทรศัพท์แบล็คเบอรี่ที่เคยโด่งดังในอดีตก็กำลังปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น  นอกจากนั้น  ข่าวล่าสุดจากตลาดหุ้นมาเลเซียก็คือ  มีคนตั้งห้องหุ้นเลียนแบบ WallstreetBets ชื่อว่า  Bursabets เพื่อที่จะขับดันราคาหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มโดยเฉพาะที่ผลิตถุงมือยางที่พวกเขาบอกว่าราคาหุ้น “ถูกเกินไป”  ผมไม่รู้ว่าในตลาดหุ้นไทยจะมีแบบนี้ไหม  เพราะดูไปแล้วนักเล่นหุ้นรายย่อยของเราน่าจะมีฝีมือไม่แพ้นักเล่นหุ้นมาเลเซียในด้านของการเก็งกำไร

         

หลังเหตุการณ์ GME เพียงไม่กี่วัน  จำนวนสมาชิก WallstreetBets เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคนกลายเป็น 5 ล้านคน  พวกเขาคุยกันถึงกำไรที่ได้มาง่าย ๆ  และมีความสุข  คนตกงานที่มีลูกอ่อนและต้องกลับมาเลี้ยงลูกที่บ้านพูดว่า  “วันนี้ได้เตียงใหม่ให้ลูก”  เด็กอายุ 16 ปีใช้ชื่อพี่ชายซื้อขายหุ้นได้กำไรวันเดียวหลายหมื่นบาท  และก็มีบางคนที่ถูกกล่าวขวัญถึงว่าทำเงินจาก 5 หมื่นเหรียญเป็น 22 ล้านและอีกวันเป็น 48 ล้านเหรียญเพราะถือหุ้น GME มาเป็นปี ทั้งหมดนี้พวกเขาคิดว่า  “เราทำได้”  ไม่ใช่เฮดจ์ฟันด์หรือคนในวอลสตรีทฝ่ายเดียวที่จะรวยแบบง่าย ๆ  เพราะได้เปรียบและมี “อภิสิทธ์” เหนือ “ประชาชน”

         

แน่นอนว่า “คนดัง” จำนวนมากต่างก็เข้ามา “เกาะกระแส” อีลอนมัสก์ออกมา “เชียร์” ว่า  รายย่อยเหล่านี้ “โคตรเจ๋ง” มันคงคล้าย ๆ กับหุ้นเทสลาที่โดนกองทุนและรายใหญ่ขายชอร์ตก่อนที่จะต้อง “เจ๊ง” เพราะหุ้นเทสลาขึ้นเอา ๆ จนมัสก์กลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลก  หลังจากคอมเม้นต์ของมัสก์ออกไป  หุ้น GME ก็วิ่งขึ้นไปอีก 100%   ทางฝ่ายการเมืองเองนั้น  Elizabeth Warren ผู้นำของสมาชิกวุฒิสภาพรรคเดโมแครทก็ออกมาเชียร์สนับสนุน “เม่า” ทั้งหลายว่า “ไม่ได้ทำอะไรผิด”

 

ในอีกซีกหนึ่งก็คือผู้นำและฝ่ายที่คุมกฎที่เป็น  “เจ้าหน้าที่”  รวมถึงผู้เล่นรายใหญ่ซึ่งก็คือผู้บริหารกองทุนทั้งหลายต่างก็ออกมา  “โจมตี” และกล่าวโทษว่ากรณีของ GME นั้น  อาจจะมีการ “แฮ็ค” ข้อมูลหรือมีการร่วมกัน “ปั่นหุ้น” ที่ผิดกฎของตลาด  จะต้องมีการตรวจสอบและเอาผิดตามกฎหมายมิฉะนั้นตลาดหลักทรัพย์ก็จะหมดความน่าเชื่อถือและจะไม่สามารถเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น  แต่เอาเข้าจริง ๆ  ก็คงเอาผิดได้ยากกับคนเป็น “ล้าน”

           

กรณี GME ยังสะท้อนให้เห็นถึงการแตกแยกทางความคิดระหว่างคนหนุ่มสาวที่มักเป็นคน “ด้อย” กว่าในสังคมที่มักจะถูก “กดขี่” ถูก  “เอารัดเอาเปรียบ” โดยคนสูงอายุกว่าและมีอำนาจกว่าและมี “ความโลภ” มากกว่า  ที่ทำอะไรก็ “ไม่ผิด” เพราะอาศัยกฎหมายหรือกฎเกณฑ์รวมถึงการตีความจากฝ่ายเดียวกัน  ตัวอย่างเช่น  ในขณะที่เฮดจ์ฟันด์ขาใหญ่สามารถ “รวมหัวกัน” ชอร์ตเซล  แล้วก็ออกมาป่าวประกาศว่าหุ้นตัวนั้นจะต้องลงเพราะเหตุผลต่าง ๆ  รวมถึงการที่นักวิเคราะห์ช่วยกันแนะนำให้ขายหุ้นโดยไม่มีความผิด  แต่พอนักลงทุนรายย่อยคุยปรึกษากันในเว็บกลับถูกข่มขู่ว่าจะถูกเล่นงาน  เป็นต้น  ดังนั้น  นี่เป็นเวลาที่คนตัวเล็ก ๆ  จะต้องรวมพลังผ่านสื่อสังคมเพื่อตีโต้กลับ  และ “เราจะต้องเป็นฝ่ายชนะ!”

           

และทั้งหมดนั้นก็คือ  “กระแส” ของโลกยุคใหม่ที่จะมีความเป็น “ประชาธิปไตย”มากขึ้นมากในทุกด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง-และตลาดหุ้น  ทุกคนจะมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น  มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น  คน “ตัวเล็ก” ทุกคนจะมีความหมายด้วยการรวมพลังผ่านสื่อที่ทรงประสิทธิภาพนั่นก็คืออินเตอร์เน็ตที่จะสามารถล้ม “ระบบเก่า” ที่เป็นอยู่มาช้านานได้


Posted by nivate at 11:01 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 

 

บทความย้อนหลัง

 

รวยเร็ว VS รวยช้า 

เดลต้า VS เทสลา 

อันดับเศรษฐีโลกในรอบ 25 ปี 

 อีกหนึ่งปีที่หายไป 

อภินิหารของหุ้นที่ถูก Corner