หุ้น OR หักปากกาเซียน 

11 ก.พ. 2564 | 11:08 น.

หุ้น OR ปิดเทรดวันแรกที่ 29.25 บาท ทะลุ 63% โบรกฯมองสะท้อนการเก็งกำไรนักลงทุนระยะสั้น 

หุ้น OR (บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก) ปิดเทรดวันแรก (11 กุมภาพันธ์) ที่ 29.25 บาท เพิ่มขึ้น 11.25 บาท หรือ 62.50% จากราคาไอพีโอ ที่ 18.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 47,360.57 ล้านบาท โดยราคาปรับสูงสุดอยู่ที่ 29.50 บาท เพิ่มขึ้น 11.50 บาท หรือ 63.88% และต่ำสุดที่ 22.10 บาท  ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 339,592 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130,612 ล้านบาท จากมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอ อยู่ที่ 208,980 ล้านบาท

ทั้งนี้ก่อนเปิดซื้อขายหุ้น OR นักวิเคราะห์ประเมินในทิศทางเดียวกันว่า ราคาหุ้น OR ในวันแรกไม่น่าจะปรับขึ้นมาก แม้ว่า OR จะเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และมีความแข็งแกร่งทางด้านฐานะการเงินก็ตาม แต่การที่หุ้น IPO ถูกกระจายให้แก่ผู้ถือหุ้นต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง และส่วนใหญ่กระจุกตัวในกลุ่มนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง 16% ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนระยะยาว จึงทำให้ราคาซื้อขายวันแรกไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ให้ราคาเป้าหมายหุ้น OR ที่ราคา 24.00 บาทต่อหุ้น อิง PER 24.3 เท่า (EPS ราว 1.0 เท่า) ซึ่งใกล้เคียงค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ PER ในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ต่อ PER ในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีกในสัดส่วน 70:30 ซึ่งจะได้ค่า PER เท่ากับ 25.7 เท่า โดยประเมินว่าในปีนี้  OR จะมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ เติบโต 41.2% yoy มาอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท (ฟื้นตัวประเด็น COVID-19 ที่กดดันในปีที่ผ่านมา) หนุนจากการฟื้นตัวทุกกลุ่มธุรกิจ

ขณะที่ภาพระยะยาวตั้งแต่ปี 2564-2567 คาด OR จะมีกำไรเติบโตเฉลี่ย CAGR ที่ 16.7% ต่อปี โดยใช้ปี 2563 เป็นปีฐาน จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว และการเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายล็อคดาวน์ ซึ่งฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานให้มีการเปิดสถานีบริการน้ำมัน 108 แห่งต่อปี และเปิดสาขาคาเฟ่อเมซอน เพิ่ม 418 สาขาต่อปี ตามเป้าหมายหลักของ OR ในขณะที่กลุ่มธุกิจต่างประเทศ มีการเปิดสถานีบริการน้ำมันปีละ 35-36 แห่ง และขยายสาขาคาเฟ่อเมซอนปีละ 35-36 สาขา

ปี 2565-2567 คาด OR จะมีกำไรเติบโต 16.7%yoy 5.8%yoy และ 6.4%yoy  มาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท 1.5 หมื่นล้านบาท และ 1.6 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่า กล่าวว่าแนวโน้มของผลการดำเนินงานมีทิศทางที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2564 ตามที่ประเมินไว้ว่ากำไรมีโอกาสฟื้นกลับมาในระดับ 1 หมื่นล้านบาทได้ จากปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนทำให้กำไรปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งด้วยจำนวนหุ้นที่เข้ามามีขนาดใหญ่กว่า 2 แสนล้านบาท สามารถเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และดัชนี MSCI ได้ ทำให้มีแรงซื้อจากกองทุนต่างๆ เข้ามาหนุนราคาหุ้น

ขณะที่ภาพของธุรกิจในอนาคตมองว่าธุรกิจค้าปลีก (Non-oil) และธุรกิจในต่างประเทศจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันผลงานของ OR ให้เติบโตขึ้น และช่วยลดความผันผวนจากธุรกิจน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนที่สูงเกือบ  70% และธุรกิจ Non-oil มีสัดส่วนราว 25% ซึ่ง OR ยังมีโอกาสขยายธุรกิจ Non-oil ได้อีกมาก โดยเฉพาะการขยายแบรนด์ Cafe Amazon ที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ จากการใช้โมเดลการขยายรูปแบบแฟรนไชส์ที่สามารถเจาะเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ โดยที่บริษัทไม่ต้องลงทุนขยายเองมาก และยังมีรายได้จากการขายแฟรนไชส์เข้ามา รวมถึงการขยายสาขาในลาว และกัมพูชา ซึ่งได้รับความนิยมมากว่าแบรนด์กาแฟชื่อดังระดับโลก

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบีเอสที (KTBST) กล่าวว่า การซื้อขายหุ้นไอพีโอโดยทั่วไปในช่วงแรกๆ จะขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลาย เป็นการเข้าเก็งกำไรในระยะสั้น  ไม่ได้สะท้อนในเชิงปัจจัยพื้นฐาน ประกอบกับข้อมูลจากนักวิเคราะห์ที่ออกมามีเพียงไม่กี่แห่ง  ต้องรออย่างน้อย 1 เดือน จนกว่าบริษัทฯจะเปิดประชุมนักวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนราคาพื้นฐานที่เหมาะสม และจากนักวิเคราะห์ในหลายแห่ง

"หากไม่ได้เป็นนักลงทุนที่ถือยาว ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจว่ารับได้ไหม รับได้ก็ขาย ไม่มีใครคาดได้ๆว่า ราคาหุ้น OR ที่เหมาะสมจริง ๆจะเป็นเท่าไร  "

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

OR ปิดเทรดวันแรก มาร์เก็ตแคปแตะ 3.4 แสนล้านบาท

10 ผู้ถือหุ้นใหญ่ OR เป๋าตุง มูลค่าหุ้นพุ่งกว่า 1 แสนล้าน

ทำอย่างไรหากหุ้น OR ไม่เข้าพอร์ต