สศช.เผย"จีดีพี" ปี 63 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ห่วง 5 ปัจจัยเสี่ยงทุบซ้ำศก.ปี 64

15 ก.พ. 2564 | 03:50 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2564 | 03:56 น.

สศช. เผยจีดีพีปี 63 หดตัว 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี พร้อมปรับลดประมาณการณ์ปี 64 เหลือโต 3% ห่วง 5 ปัจจัยเสี่ยงทุบเศรษฐกิจ หวัง 4 ปัจจัยหนุน แนะ 9 ประเด็นบริหารเศรษฐกิจมหภาค

15 กุมภาพันธ์ 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม หรือ สศช. แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 4/2563 ทั้งปีและแนวโน้มปี 2564โดยระบุว่า ไตรมาส 4 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัว 4.2 % ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน-6.4%

ส่วนทั้งปี 2563 หดตัว 6.1 % ต่ำสุดในรอบ 22 ปี พร้อมปรับลดคาดการณ์ปี 64 เหลือโต 3% (2.5-3.5%) ปรับลดลงจากเดิมคาดไว้ที่ 3.5-4.5%

เลขาธิการสศช.ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลดลง 6.1% นับตั้งแต่ปี 2541ที่หดตัว 7.6% สาเหตุของการปรับลดลงนั้น ปัจจัยหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งไม่เกี่ยวกับปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ และตัวเลขคาดการณ์จีดีพีในปี 2564 ที่ระดับ 3% (2.5-3.5%) อยู่บนฐานความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19และผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2564 ด้วย

4 ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2564 ได้แก่

1.การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปีนี้

2.แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐทั้งจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณประจำปีและมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำคัญ

3.การกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆของอุปสงค์ภายในประเทศ

4. ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2564 ที่ต้องติดตามคือ

1.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดและความล่าช้าของการกระจายวัคซีน

2.แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

3.เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจโดยเฉพาะการภาพเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สิน(หนี้ครัวเรือน)

4.สถานการณ์ภัยแล้ง

5.ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

นอกจากนี้ สศช.แนะนำ 9 ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจมหภาคในปี 2564 ได้แก่

1.การควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศของ Covid-19

2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศ

3.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องรวมถึงการดำเนินมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม

4.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

5. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ
6. การส่งเสริม การลงทุนภาคเอกชนโดยเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริงลดเงื่อนไขข้อจำกัดการดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและการขับเคลื่อนมาตรการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

7.การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

8. การเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและการดูแลรายได้เกษตรกร

9. การติดตามและเตรียมรับรองความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สศช. ปรับลดเป้าจีดีพี ปี 64 โตต่ำ 2.5 - 3%

หุ้นไทยเปิดภาคเช้าบวก 7 จุด

หุ้น OR บวกต่อ 6.84%

ราคาทองวันนี้(15 ก.พ.)คงที่ ทองคำแท่งขายออก 25,850 บาท

"บิตคอยน์’ ทุบสถิติใหม่พุ่งกว่า 1.46 ล้านบาท