หลังทำนิวไฮต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.64 ที่ราคาบิตคอยน์ขยับขึ้นไปเหนือเพดาน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1 บิตคอยน์ เท่ากับ 1,533,246.99 บาท) เพิ่มขึ้นกว่า 4.65% ราคาก็ขยับขึ้นต่อเนื่อง จนวันที่ 21 ก.พ. 64ราคาสร้างสถิติสูงสุด 1,722,603 บาทต่อ 1 บิตคอยน์ ก่อนย่อตัวลงมาอยู่ที่ 1,649,810 บาท ต่อ 1 บิตคอยน์ในวันที่ 22 ก.พ.64 อย่างไรก็ตามในวงการคริปโต มองว่าขาขึ้นของบิตคอยน์ครั้งนี้จะลากยาวไปมากว่าปีหรือปีครึ่ง หลังสหรัฐพิมพ์เงินดอลลาร์สหรัฐออกมาต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
โดยนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บิทคับ แคปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าช่วงขาขึ้นของบิตคอยน์ปกติจะเกิดขึ้น 4 ปีครั้ง ซึ่งปกติจะมีระยะเวลาช่วงขาขึ้นประมาณ 1-1.5 ปี อย่างไรก็ตามมองว่าในครั้งนี้รอบขาขึ้นจะมีระยะเวลานานขึ้น โดยมองว่าจุดเปลี่ยนแปลงของวงการบิตคอยน์ เกิดขึ้นหลังจากที่ TESLA (เทสล่า) แบ่งเงิน 8% ซึ่งคิดเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท เข้ามาลงทุนในบิตคอยน์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนบิตคอยน์ โดยขณะนี้บริษัทอื่น หรือ นักลงทุนสถาบันทั่วโลก กำลังเข้ามาลงทุนในบิตคอยน์ ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมาการลงทุนส่วนใหญ่เป็นของนักลงทุนรายย่อย ขณะที่เงินลงทุนสถาบันทั่วโลกนั้นมีมหาศาล เฉพาะเงินตราสารหนี้ ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลที่ขาดทุนทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่ามูลค่าบิตคอยน์ 10 เท่า
นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากอัตราเงินเพ้อในสหรัฐ ที่รัฐบาลพิมพ์ธนบัตรออกมา 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 40% ของเงินดอลลาร์สหรัฐ ถูกพิมพ์ออกมาในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ทำให้คนไม่อยากเก็บเงินดอลลาร์และหันไปลงทุนทองคำ หุ้น และบิตคอยน์
ด้านนายพลากร ยอดชมญาณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาโตชิ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางการเงินรูปแบบใหม่ในการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้แบรนด์ “คูแลป” (KULAP) กล่าวว่าภาพรวมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2563 สู่ปี 2564 ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งราคาบิตคอยน์และคริปโตชนิดอื่นที่ปรับตัวขึ้นสูง เกิดจากความต้องการถือครองของนักลงทุน และองค์กรระดับโลกเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนราคา องค์กรอย่าง TESLA (เทสล่า) เริ่มเห็นถึงความสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัล ได้ทำการซื้อบิทคอยน์กว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผลเพื่อเพิ่มผลตอบแทนของเงินสดสำรอง ซึ่งเป็นส่วนเกินจากเงินสำรองเพื่อสภาพคล่องในการดำเนินงานปกติ ทั้งยังกล่าวว่าบริษัท จะเริ่มรับชำระเงินค่าซื้อผลิตภัณฑ์ของ TESLA ด้วยบิทคอยน์
ขณะที่นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์(SCBS) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนทางเลือก ในบิตคอยน์ โดยระบุว่า บิตคอยน์มีความผันผวนสูง ส่วนตัวมองตอนนี้อยู่ในภาวะฟองสบู่แล้ว สาเหตุเพราะระยะสั้นราคาที่ปรับตัวขึ้นมหาศาลไม่ได้มาจากพื้นฐานหรือการใช้งานที่ดีขึ้นแต่แค่มาจากนักลงทุนรายใหญ่เข้าเก็งกำไร ถ้าสูงเกินมากนี้อาจจะต้องมีเหตุผลอื่นมาสนับสนุนที่สมเหตุสมผล เพราะความผันผวนสูง โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการเก็งกำไรควรจะลงทุนเพียง 1-2%ข องพอร์ตก็น่าจะพอแล้ว
กรณีนักลงทุนหรือคนที่มีชื่อเสี่ยงเข้ามาลงทุนในบิตคอยน์นั้น ความเป็นไปได้ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะมีการทำสินค้าหรือบริการออกมาโดยคิดราคาเป็นบิตคอยน์ ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่รู้ว่าจะมีการทำจริงหรือไม่ ดังนั้น ผู้ลงทุนก็รับความเสี่ยงมหาศาล
“นักลงทุนต้องแยกให้ออกว่า อันไหนคือ พื้นฐาน อันไหนคือโฟล์ เพราะมีหลายสินทรัพย์ที่ราคาพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีเงินเข้าหรือมีโฟล์ ราคาจึงปรับขึ้น ซึ่งหากมองในแง่การลงทุน อะไรที่พื้นฐานไม่ดีขึ้น แต่แพงขึ้นก็เป็นฟองสบู่ แต่คนซื้อบิตคอยน์จะใช้วิธีคิดว่า ราคาพื้นฐานของบิตคอยน์ 1 แสนหรือ 1 ล้านดอลลาร์ แต่คำถามของผมคือ แล้วทำไมตอนนี้มาเทรดในราคา 5 หมื่น”
หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,656 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564