ไขข้อข้องใจ"ช้อปดีมีคืน" เตรียมความพร้อมก่อนยื่นภาษีปี 63 

04 มี.ค. 2564 | 01:23 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2564 | 08:24 น.

สรรพากร เคลียร์ชัดทุกประเด็น"ช้อปดีมีคืน" เตรียมความพร้อมก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 63

 

มาตรการ"ช้อปดีมีคืน" ของรัฐบาลที่คิกออฟออกมาเมือช่วงปลายปี 2563 (มีผล 23 ต.ค.-31 ธ.ค. 63) เพื่อกระตุ้นการบริโภคในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ประชาชนสามารถนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการรวมกันไม่เกิน 30,000 บาท มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2563ได้ 

ทั้งนี้การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ปีภาษี 2563 กรมสรรพกรได้ขยายเวลาการยื่นแบบภาษีฯผ่านอินเตอร์เน็ตถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 อย่างไรก็ดี หลายท่านอาจมีข้อสงสัยในเรื่องการนำใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงินจากการซื้อสินค้าแล้ว ไปยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2563 อย่างไร? 

สรรพากร ได้ไขข้อข้องใจ"ช้อปดีมีคืน" ทุกประเด็นชัดเจนดังนี้

ใบกำกับภาษีมีชื่อผู้ซื้อมากกว่า 1 คน เช่น นาย ก และ นาย ข ใช้สิทธิได้หรือไม่

ไม่ได้ ใบกำกับภาษีต้องเป็นชื่อผู้มีเงินได้คนเดียว

ที่อยู่ในใบกำกับภาษี ใช้ที่อยู่ที่ใด

ที่อยู่ตามที่สะดวก หากผู้มีเงินได้ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ชื่อ – ที่อยู่ ในใบกำกับภาษีผิด ใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้ หากไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นบุคคลอื่นสามารถใช้สิทธิได้ แต่หากทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นบุคคลอื่นให้ผู้ออกใบกำกับขีดฆ่าและลงลายมือชื่อกำกับ หรือยกเลิกฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง

ใบกำกับภาษี ออก ชื่อ-สกุล เป็นภาษาอังกฤษได้หรือไม่

ได้ หากใบกำกับภาษีมีรายละเอียดครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

ใบรับ ออกชื่อ-สกุล เป็นภาษาอังกฤษได้หรือไม่

ไม่ได้ ชื่อผู้ขายต้องออกเป็นภาษาไทยเท่านั้น ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนชื่อผู้ซื้อจะระบุเป็นภาษาอังกฤษก็ได้

กรณีได้ใช้สิทธิลดหย่อนไปแล้ว ต่อมาได้รับใบลดหนี้ ต้องยื่นแบบเพิ่มเติมปรับปรุงการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 หรือไม่

ต้องดำเนินการยื่นแบบเพิ่มเติม

กรณีได้รับส่วนลดจากการซื้อสินค้า ระบุในใบกำกับภาษี เช่น ซื้อสินค้า 32,000 บาท ได้รับส่วนลด 3,000 บาท ยอดซื้อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 29,000 บาท สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ อย่างไร

ใช้สิทธิได้จากยอดหลังหักส่วนลด 29,000 บาท

การจ่ายชำระเงิน กรณีใบกำกับชื่อนาย ก แต่ใช้บัตรเครดิต นาย ข จ่าย ได้สิทธิหรือไม่

ได้ เนื่องจากไม่ได้กำหนดวิธีการจ่ายชำระ

ซื้อน้ำมันเครื่อง ได้สิทธิหรือไม่

ได้ เนื่องจากไม่ใช่น้ำมันเติมยานพาหนะในลักษณะของน้ำมันเชื้อเพลิง

ค่าเติมเงิน Easy Pass เช่น เติมเงิน 2,000 บาท ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563 แต่ใช้บริการถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เหลือเงินอยู่ 200 บาท ได้สิทธิหรือไม่ อย่างไร

ได้สิทธิจำนวน 1,800 บาท หากพิสูจน์ได้ว่าจ่ายและใช้บริการในช่วงที่กำหนด และได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

ผ่อนชำระค่าซื้อสินค้า เช่น ซื้อสินค้าจำนวน 9,000 บาท ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 แบ่งจ่าย 3 งวด ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และ 30 มกราคม พ.ศ. 2564 ได้สิทธิหรือไม่

ได้สิทธิ จำนวน 6,000 บาท เนื่องจากซื้อและจ่ายชำระในช่วงเวลาที่กำหนด และได้รับใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ใบกำกับภาษีออกทั้งชื่อสามีและภริยา เช่น นาย ก และ นาง ข ใช้สิทธิได้หรือไม่

ไม่ได้ ใบกำกับต้องเป็นชื่อผู้มีเงินได้คนเดียว

ใบกำกับภาษีที่มีการแก้ไข สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้ หากรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

ต่างชาติอยู่ในไทยไม่ถึง 180 วัน มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้ หากไม่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง และเข้าตามหลักเกณฑ์ครบถ้วน

กรณีใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกัน จะได้รับสิทธิช้อปดีมีคืนหรือไม่

ได้ แต่หากใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งจะไม่สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้

กรณีการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ตของเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้ เนื่องจากเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งมีการชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการภายในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด

จ่ายค่าบริการเสริมสวยล่วงหน้า วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 6,000 บาท ได้รับใบกำกับภาษีแล้ว กำหนดเวลาการใช้บริการภายใน 6 เดือน ได้รับสิทธิหรือไม่

ไม่ได้รับสิทธิ หากเป็นกรณีการจ่ายค่าบริการในลักษณะที่ต้องมีการรับบริการต่อเนื่อง และการรับบริการดังกล่าวเสร็จสิ้นเกินกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

จ่ายค่าบริการเสริมสวยล่วงหน้า วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 6,000 บาท ได้รับใบกำกับภาษีแล้ว หากมีการใช้บริการบางส่วนในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด จะได้รับสิทธิหรือไม่

ไม่ได้รับสิทธิทั้งจำนวน

 

กรณีภริยา ยื่นแบบรวมกับสามี และสามีใช้สิทธิคนละครึ่ง ภริยาจะยื่นแบบรวมกับสามีได้หรือไม่

ได้ เนื่องจากสิทธิลดหย่อนเป็นสิทธิส่วนบุคคล ภริยาสามารถยื่นแบบรวมกับสามีได้ โดยสามีไม่สามารถใช้สิทธิแต่ภริยาสามารถใช้สิทธิได้

เช่ารถยนต์ได้สิทธิหรือไม่

ได้ หากได้รับบริการและชำระในช่วงเวลาที่กำหนด

จ่ายค่าโบรกเกอร์ ในการซื้อ-ขายหุ้น ที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้ เนื่องจากเป็นการจ่ายและใช้บริการในช่วงเวลาที่กำหนด

ค่าบริการซื้อตั๋วเครื่องบินจากตัวแทน ในการเดินทางต่างประเทศใช้สิทธิได้หรือไม่

ไม่ได้ เนื่องจากต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการเพื่อใช้ในราชอาณาจักร

ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่า 20,000 บาท วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563 วางมัดจำจำนวน 5,000 บาท และส่งมอบวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563 พร้อมจ่ายส่วนที่เหลือ

ไม่ได้รับสิทธิ

กรณีการซื้อน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมพาหนะ หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงใช้หรือไม่

ใช่

ซื้อรถสามล้อเครื่อง ใช้สิทธิได้หรือไม่

ไม่ได้ เนื่องจากการจ่ายค่าซื้อรถยนต์เป็นการจ่ายค่าซื้อสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 368 (พ.ศ. 2563)

จักรยานไฟฟ้า คือจักรยานที่ใช้มอเตอร์เป็นกำลังในการขับเคลื่อน สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้หรือไม่

ไม่ได้ เพราะจักรยานไฟฟ้าเป็นรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จึงเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 368 (พ.ศ. 2563)

ค่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ หมายถึง รถ หรือจักรยานที่มีเครื่องยนต์ทุกประเภทใช่หรือไม่

ใช่

ค่าซื้อเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ ใช้สิทธิได้หรือไม่

ไม่ได้ เนื่องจากไม่รวมถึงการจ่ายค่าซื้อเรือ

นายภาษีได้รับใบกำกับเต็มรูปลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สำหรับค่าโทรศัพท์ระบุเป็นการใช้บริการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2563 – 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นายภาษีสามารถนำค่าโทรศัพท์ดังกล่าวมาใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้ เพราะได้ใช้ค่าบริการและจ่ายค่าบริการภายในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

จ่ายค่าซื้อแชมเปญ สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้หรือไม่

ไม่ได้ เนื่องจากแชมเปญอยู่ในกลุ่มของ สุรา เบียร์ และไวน์

กรณีสามีมีเงินได้ฝ่ายเดียว แต่ได้รับใบกำกับภาษีระบุชื่อทั้งสามีและภริยา สามีสามารถนำมาใช้สิทธิได้หรือไม่

ไม่ได้ ใบกำกับภาษีต้องเป็นชื่อผู้มีเงินได้คนเดียว

วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563 โอนเงินค่าสมาชิกรายปีผ่านบัตรเครดิต และถูกเรียกเก็บค่าบริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต โดยบริษัทออกใบกับภาษีลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เนื่องจากเป็นวันที่บริษัทได้รับเงิน และในใบกำกับภาษีมีรายละเอียดแสดงการจ่ายชำระวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563 สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่

ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการชำระค่าบริการก่อนวันที่กฎหมายกำหนด และมีการรับบริการเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด

กรณีชาวต่างชาติ มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ยังไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หากใบกำกับภาษีระบุเป็นเลขพาสปอร์ต สามารถนำมาใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้ หากชาวต่างชาติไม่ใช่ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้มีเงินได้ใช้โครงการเราเที่ยวด้วยกันเกี่ยวกับที่พักในวันที่ 4-6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 แล้วรัฐบาลช่วยออก 40% โดยโอนเงินเข้า app เป๋าตัง เพื่อไปใช้ที่ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อไปใช้สิทธิรับประทานอาหารทางร้านคิดค่าอาหาร 1,000 บาท แต่ได้จ่ายเงินค่าอาหารเพียง 600 บาท และได้รับใบกำกับภาษีระบุจำนวนเงิน 1,000 บาท สามารถนำมาใช้ในโครงการช้อปดีมีคืนได้หรือไม่

เงินที่รัฐช่วยออกให้ 40% เป็นเงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ได้รับ ดังนั้น เมื่อผู้มีเงินได้จ่ายค่าอาหาร 1,000 บาท และได้รับใบกำกับภาษีซื้อ 1,000 บาท จึงสามารถนำมาใช้ในโครงการช้อปดีมีคืนได้
 

 

ใบกำกับภาษีสาระไม่ครบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีชื่อ-ที่อยู่ผู้ซื้อ ใช้ได้หรือไม่

ไม่ได้

ซื้อสินค้า ใบกำกับภาษีลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 แต่ทำหาย ขอใบแทนใบกำกับภาษี ออกใบแทนฯ วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564 ใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้ เนื่องจากเป็นการซื้อสินค้าในช่วงเวลาที่กำหนด

ซื้อแพ็คเกจดูคอนเสิร์ตและมีที่พัก โดยมีการแยกรายละเอียดค่าบัตรและค่าที่พักออกจากกัน ระยะเวลาอยู่ในช่วงที่กฎหมายกำหนด สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ อย่างไร

ได้สิทธิเฉพาะค่าบัตรคอนเสิร์ต แต่ไม่ได้สิทธิค่าที่พัก

พาสุนัขไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ ได้รับใบกำกับภาษี ในช่วงที่กฎหมายกำหนด ใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้

ซื้อโปรแกรม windows ได้รับใบกำกับภาษี ในช่วงที่กฎหมายกำหนด ใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้ เนื่องจากเป็นการจ่ายค่าซื้อสินค้า

ได้รับใบกำกับภาษีค่าไฟฟ้าระบุวันที่จ่ายเงิน 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สำหรับการใช้บริการตั้งแต่ วันที่ 1 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 หากในใบกำกับภาษีระบุชื่อมิเตอร์เป็นนาย ก แต่ชื่อผู้จ่ายเงินเป็นนาย ข ดังนั้น นาย ข สามารถนำมาใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้หรือไม่

ไม่ได้ เนื่องจากชื่อมิเตอร์ไม่ใช่ชื่อนาย ข แต่หากในใบกำกับภาษีระบุชื่อนาย ข เป็นผู้จ่ายเงินจริงและสามารถพิสูจน์ได้ว่า นาย ข เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าจริง ก็สามารถใช้สิทธิได้

ผู้มีเงินได้ใช้โครงการเราเที่ยวด้วยกันเมื่อเช็คอินที่พักแล้วได้รับคูปองเงินเข้า app เป๋าตังค์ 600 บาท เพื่อนำไปใช้สิทธิกับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อไปรับประทานอาหารมูลค่าอาหารทั้งสิ้น 1,500 บาท แต่จ่ายเงินเพียง 900 บาท เนื่องจากรัฐบาลช่วยออก 40% และได้รับใบกำกับภาษีซื้อ 1,500 บาท สามารถนำมาใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้หรือไม่อย่างไร

เงินที่รัฐช่วยออกให้ 40% เป็นเงินได้พีงประเมินที่ผู้มีเงินได้ได้รับ ดังนั้น เมื่อผู้มีเงินได้จ่ายค่าอาหาร 1,500 บาท และได้รับใบกำกับภาษีซื้อ 1,500 บาท จึงสามารถนำมาใช้ในโครงการช้อปดีมีคืนได้

ซื้อหนังสือการ์ตูน สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้หรือไม่

ได้ เนื่องจากหนังสือการ์ตูนถือเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ นิตยสาร

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 มีการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า จ่ายชำระด้วยบัตรเครดิต และมีการผ่อนชำระ 10 งวดกับบัตรเครดิต สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่

ได้ เนื่องจากเป็นการซื้อและจ่ายชำระในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด การผ่อนชำระเป็นการผ่อนกับบัตรเครดิต ถือว่าเป็นการจ่ายชำระทั้งจำนวนให้กับผู้ขาย

ที่มา :  กรมสรรพากร 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคลียร์ชัด"ยื่นแบบภงด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต" เตรียมพร้อมก่อนยื่นภาษีปี63

"ขอคืนเงินภาษี" สรรพากรไขข้อสงสัยคำถามยอดฮิต เช็กได้ที่นี่

“ขายของออนไลน์” ยื่นเสียภาษีอย่างไร เช็กคำนวณเบ็ดเสร็จที่นี่!

เจาะลึกค่าลดหย่อนภาษีพ่อแม่

สงสัยไหม? ทำงานพาร์ทไทม์ ค่าจ้างเท่าไหร่ ต้องยื่นแบบและเสียภาษี ที่นี่คำตอบ