นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะใช้เวลานาน แม้ว่าจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3/2565 แต่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ทั้งการฟื้นตัว และการจ้างงานที่ไม่เทียมกัน เช่น ภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวได้ดี การส่งออก ซึ่งบางตัวกลับมาฟื้นตัวได้ดีกว่าก่อนโควิด-19
ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะใช้เวลา 4-5 ปี ที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาได้ 40 ล้านคน ดังนั้น มาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิดคือ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู 2.5 แสนล้านบาท และ มาตรการ พักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท
ทั้งนิ้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เน้นสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ถูกกระทบจากโควิด-19 แต่ยังมีศักยภาพ ซึ่งเป็นการปลดล็อกในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน(เดิม) โดยปลดล็อก 5 ด้าน ได้แก่ 1.ขยายขอบเขตให้ลูกค้า รายใหม่เข้าถึง 2.ขยายระยะเวลา 3.ขยายวงเงิน 4.อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม 5.ขยายการชดเชยรับความเสี่ยงได้มากขึ้น
ส่วนมาตรการ "พักทรัพย์ พักหนี้" ( Asset Warehousing) ให้ลูกหนี้ตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ชั่วคราวและสามารถซื้อคืนทรัพย์คืนได้ โดยบวกต้นทุนการรักษาทรัพย์ (Caring Cost) เป็นการให้โอกาสลูกหนี้พักหนี้ และลดความเสี่ยงการถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์ สามารถกลับมาจ้างงาน รักษาการจ้างและสร้างรายได้หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยธปท.จะหนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นสภาพคล่องให้ลูกหนี้ต่อในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี
ผู้ว่าธปท.ระบุว่า ทั้ง 2 มาตรการเน้นให้มีความยืดหยุ่น ครอบคลุมปัญหาที่หลากหลายเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดและระยะยาวขึ้นตามสถานการณ์ฟื้นตัวที่คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจากเดิม พ.ร.ก.เดิมอายุ 2 ปี และค้ำประกัน 2 ปี แต่มาตรการใหม่จะขยายอายุเป็น 5 ปี และค้ำประกัน 10 ปี โดยเน้นปิดช่องว่างที่มีอยู่และรองรับสถานการณ์หลังโควิด
ทั้งนี้ หากดูภาพรวมสินเชื่อที่ผ่านมา กลไกตลาดทำงานเฉพาะในส่วนของสินเชื่อรายย่อยและรายใหญ่โดยขยายตัว 4%และกว่า 10% แต่สินเชื่อ SME มีการหดตัว ซึ่งหากไม่มีซอฟต์โลนจะหดตัวแรงกว่านั้น
"มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้จะตอบโจทย์และลดภาระลูกหนี้ได้ และมั่นใจว่าจะดำเนินการได้จริงภายในเดือนพฤษภาคมนี้โดยทำควบคู่กับมาตรการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วด้วย"
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.กล่าวว่า ในแง่ของเม็ดเงินการฟื้นฟูจะมีผลต่อการจ้างงานและพยุงการจ้างงานรวมถึงลดความเสี่ยงเรื่องจีดีพี ได้พอสมควร และให้สิทธิลูกหนี้ที่ใช้ซอฟท์โลนรอบแรกมาขอกู้ในมาตรการรอบที่ 2 ได้ด้วย ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าวงเงิน1แสนล้านบาทจะเพียงพอสำหรับความต้องการพักทรัพย์พักหนี้ และสามารถขยับวงเงินรพหว่าง สินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และมาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาทได้หากมาตรการใดมาตรการหนึ่งมีความต้องการมากกว่าวงเงินที่มีอยู่
สำหรับความคืบหน้าซอฟท์โลนนั้น ปริมาณสินเชื่อ soft loan ที่อนุมัติไปแล้วจำนวน1.32แสนล้านบาทเศษ และความเสี่ยงค่อนข้างสูง 37% ทั้งนี้ พ.ร.ก.ซอฟท์โลนดังกล่าวจะหมดอายุภายใน 19 เมษายน 2564
ต่อข้อถามกลุ่มธุรกิจสายการบินนั้น ปกติจะเป็นการเช่าเครื่องบิน แต่หากมีคาร์โก้หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เป็นที่ดินก็สามารถเข้ามาตรการรอบใหม่นี้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่ามาตรการที่ออกมาจะตอบโจทย์ลูกหนี้แต่ละกลุ่ม และช่วยลดโอกาสที่ลูกหนี้จะกลายเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: