นายอรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษียาสูบ ให้ความเห็นต่อการดำเนินการของกรมสรรพสามิตว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งประกาศแนวทางการกำหนดนโยบายภาษีบุหรี่ฉบับใหม่ (WHO TECHNICAL MANUAL ON TOBACCO TAX POLICY AND ADMINISTRATION) เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมสรรพสามิต
ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันมีเพียง 31 ประเทศจากกว่า 180 ประเทศ ที่ยังใช้อัตราภาษีหลายอัตรา โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 8 ประเทศที่ยังแบ่งอัตราภาษีเป็นหลายอัตราตามราคาขายปลีก อีก 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ อินโดนีเซีย โมซัมบิก ปากีสถาน เมียนมา จอร์แดน และเบลารุส
การใช้ภาษีหลายอัตรา ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาสูบบุหรี่ที่เสียภาษีต่ำเพราะราคาถูกกว่า และยังส่งเสริมผู้ประกอบการบุหรี่ให้ใช้กลยุทธ์การลดราคาบุหรี่เพื่อเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวสนับสนุนให้แต่ละประเทศพิจารณาใช้ภาษีอัตราเดียวสำหรับสินค้าบุหรี่ เพราะช่วยให้ราคาบุหรี่โดยเฉลี่ยสูงกว่าในประเทศที่ใช้ภาษีหลายอัตราถึง 26% และช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านรายได้และสาธารณสุขได้ดีกว่า
อย่างไรก็ดี ในบริบทของประเทศไทย หากมองในแง่ผู้ประกอบการที่มีรัฐวิสาหกิจของรัฐเป็นผู้ผลิตผูกขาดและเป็นผู้ขายรายใหญ่สุด ทำให้ระบบภาษียาสูบไทยไม่พัฒนาเท่าที่ควร เพราะหนึ่งในเป้าหมายของระบบภาษีคือ การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ ยกตัวอย่างแต่เดิมก่อนเดือนกันยายน 2560 ประเทศไทยใช้ระบบภาษีมูลค่าเป็นส่วนใหญ่โดยมีฐานภาษีคือราคาต้นทุน ได้แก่ ราคาหน้าโรงงานและราคานำเข้า ทำให้ผู้ประกอบการพยายามลดราคาต้นทุนลงทุกครั้งที่มีการขึ้นภาษีเพื่อให้เสียภาษีลดลง จนส่งผลกระทบต่อรายได้และนโยบายด้านสุขภาพในช่วงก่อนปี 2560
อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2560 ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้ระบบผสมทั้งภาษีตามมูลค่าและตามปริมาณ โดยเปลี่ยนฐานภาษีมูลค่าจากราคาต้นทุนมาใช้ราคาขายปลีก เพื่อให้นโยบายภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับคำแนะนำในรายงานฉบับดังกล่าว แต่กรมสรรพสามิตกลับกำหนดอัตราภาษีมูลค่า 2 อัตรา เพื่อช่วยการยาสูบแห่งประเทศไทยที่เป็นผู้ประกอบการในประเทศ จนกลายเป็นจุดบอดของโครงสร้างภาษีบุหรี่ในปัจจุบัน
“กระทรวงการคลังควรเปลี่ยนมาใช้ภาษีอัตราเดียวโดยเร็วที่สุดเพราะมีความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ทำให้เกิดช่องว่างในการลดราคาสินค้า โดยหากกังวลถึงผลกระทบต่อการยาสูบแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) ที่ตลาดมีกำลังซื้ออ่อนแอ ก็ควรกำหนดอัตราภาษีมูลค่าอัตราเดียวที่ไม่ต้องสูงมากในปีนี้ และค่อย ๆ ปรับขึ้นไปเป็นขั้นบันไดให้สอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะของรายงานดังกล่าวที่ระบุให้มีการขึ้นอัตราภาษีให้เหมาะสมกับการขยายตัวของเงินเฟ้อและรายได้ของผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ”
นายอรรถกฤต กล่าวต่อไปอีกว่า หากยังคงภาษีหลายอัตราต่อไปก็เชื่อว่าการเติบโตของบุหรี่ที่เสียภาษีในขั้นระดับล่างที่เกิดจากการลดราคาเพื่อเสียภาษีในอัตราที่ถูกกว่าจะยังคงอยู่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรายได้สรรพสามิตบุหรี่ที่มีแนวโน้มลดลงและไม่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ รวมทั้งยังไม่ช่วยการยาสูบแห่งประเทศไทยอย่างที่ตั้งใจไว้ด้วย เพราะอัตราภาษียิ่งมีหลายอัตราก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการบุหรี่แข่งขันกันลดราคาบุหรี่มาขายเพื่อเสียภาษีในอัตราต่ำสุดนั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :