ธปท.เชียร์รัฐเร่งสปีดฉีดวัคซีนได้ 100ล้านโดสสิ้นปี64 สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไตรมาส1ปี2565 หนุน “เปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวและสร้างความมั่นใจประชาชนกลับมาใช้จ่าย” เผยสัญญาณคนว่างงานระยะกลางย้ายเป็นระยะยาวเพิ่มคาดสิ้นปีแตะ2.7ล้านคน ห่วงผลกระทบแผลเป็นทางเศรษฐกิจในอนาคต
นางชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยเรื่อง “ส่องเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตโควิดด้วยวัคซีน โดยระบุว่า การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายได้เร็วและความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน จะทำให้ภาพการประเมินเศรษฐกิจเมื่อเดือนมีนาคมจะเปลี่ยนไป โดยสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอก3 รุนแรงกว่าระลอกก่อนๆ เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน หรืออัตราการแพร่ระบาดของเชื้อที่สูงขึ้น รวมถึงจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้น แต่ธปท.ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นไม่รุนแรงที่สุดเทียบกับระลอกอื่น ซึ่งระลอก1 น่าจะรุนแรงที่สุด ส่วนหนึ่งเนื่องจากรอบนี้ไม่ได้มีมาตรการที่เข้มงวด โดยยังทำกิจกรรทางเศรษฐกิจบางส่วน ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังเติบโตได้ดี หลายประเทศมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลบวกที่ดี ที่สำคัญ รอบนี้ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวมีไม่มาก ผลกระทบจึงไม่เท่ากับระลอกแรก
สถานการณ์ระบาดของโควิดยังมีความไม่แน่นอนสง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันอยู่ในระดับสูงและผันผวน ซึ่งที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อดีกว่าผลการประเมินเมื่อปลายเดือนเมษายน และจำนวนผู้รักษาหายได้ต่อวันเพิ่มขึ้น สะท้อนจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการเตียงเริ่มทรงตัว และระบบสาธารณสุขมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่อย ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดกรณีร้ายแรงหรือส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบสาธารณสุข หรือระบบเศรษฐกิจ คงจะมีไม่มากนัก
การเมินผลกระทบเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกที่ 3 นั้น ธปท.มองเป็น 2มิติ ได้แก่ มิติแรกเป็นผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยพบว่า ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ปรับลดลงค่อนข้างเร็ว ส่วนความเชื่อมั่นกภาคบริการได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เห็นได้จากอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่ปรับลด เนื่องจากช่วงหลังสงกรานต์เป็นต้นมา มีการยกเลิกการจองห้องพักจำนวนมาก โดยเฉลี่ยเดือนเมษายนอัตราการเข้าพักเหลือไม่ถึง 20% และในเดือนพฤษภาคมอาจจะต่ำกว่า 10%
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระลอก1ที่ผ่านมานั้น ธปท.ประเมินผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศอยู่ที่ประมาณ 2.2%ต่อจีดีพี ส่วนระลอกที่ 3 คาดว่าผลกระทบต่อจีดีพีจะอยู่ที่ประมาณ 1.4-1.7%ซึ่งขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อ โดยสะท้อนสถานการณ์ระบาดที่รุนแรง แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจจะไม่รุนแรงเท่าระลอกแรกในแง่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและความเชื่อมั่น สำหรับมิติของการท่องเที่ยวหรือการเปิดประเทศ โดยประเมินโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับภูมิคุ้มกันหมู่( Herd Immunity) อาจจะเลื่อนออกไป โดยมาจากกับ 2ปัจจัย คือ 1. สัดส่วนของประชากรที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งขึ้นอยู่กับ 2ตัวแปรคือ สายพันธุ์ของไวรัส ถ้าไวรัสแพร่กระจายได้เร็ว อาจจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้สัดส่วนของประชากรที่สูงเพื่อดูแลไม่ให้การระบาดกระจายวงกว้าง 2.ประสิทธิผลของวัคซีน แม้ประชากรไม่ได้รับวัคซีนจำนวนมากแต่สามารถได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ได้
โดยเฉพาะ ความเร็วในการได้รับวัคซีนของประชาชน ซึ่งขึ้นอยู่กับ 3ปัจจัย คือ จำนวนวัคซีน,ความสามารถในการกระจายฉีดวัคซีนตามแผนและที่สำคัญคือ ความเต็มใจของประชาชนที่จะฉีดวัคซีน
อย่างไรก็ตาม การแพร่กระจายของโควิดระลอก3 สูงกว่าคาดการณ์เดิม ธปท.ประเมินว่า สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนจะอยู่ที่กว่า 80%(เดิมคาด 70-72%ซึ่งจะทำให้ได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ไตรมาส2ปี2565 เลื่อนเป็นไตรมาสที่ 3ปีหน้า ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการเปิดประเทศที่ช้าลง ในแง่ความเชื่อมั่นในการเดินทางของนักท่องเที่ยวน้อยลง ดังนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดไว้ไม่น่าจะได้ตามคาด (เดิมประเมินปีนี้จะมีนักท่องเที่ยว 3ล้านคนและปีหน้า 21.5ล้านคน)
นางชญาวดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้การประเมินผลจากการฉีดวัคซีนบน 3กรณีได้แก่ 1. กรณีการจัดหาและกระจายวัคซีน 100ล้านโดสในปี2564จะทำให้ได้ภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาส 1ของปี 2565 2. กรณีทำได้ช้าโดยจัดหาและกระจายวัควัคซีนได้ตามแผนของสาธารณสุข 64.6ล้านโดสปีนี้ จะได้รับภูมิคุ้มกันหมู่เลื่อนเป็นไตรมาสที่ 3ของปี 2565 และ3. กรณีจัดการหรือกระจายวัคซีนได้น้อยกว่า 64.6ล้านโดสและเนื่องจากประชาชนไม่เต็มใจฉีดวัคซีนจะทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ถูกเลื่อนออกไปอีก 1ไตรมาสคือ เป็นไตรมาสที่4ของปีหน้า
“ ในการที่จะได้ภูมิคุ้มกันหมู่นั้น ขึ้นอยู่กับความเร็วของการฉีดวัคซีนซึ่งมีความสำคัญมากกว่าวัคซีนที่จะได้รับการฉีด ในแง่ของเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับความเร็ว ไม่ใช่ชนิดของวัคซีน โดยเฉพาะถ้าเราได้ภูมิคุ้มกันหมู่จะทำให้มีความสบายใจในการเปิดประเทศมากขึ้น ประชาชนมีความมั่นใจจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย และนักท่องเที่ยวก็จะได้รับผลดี”
ทั้งนี้ ผลต่อจีดีพีใน 3 กรณีโดยปีนี้จีดีพีไทยน่าจะเติบโต 2.0% และ 4.7%ในปีหน้า แต่หากไม่ฉีดวัคซีนได้ตามแผนเดิม 64.6ล้านโดสจะทำให้จีดีพีน้อยลงและจำนวนนักท่องเที่ยวไม่มาก ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ4.6แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 3%ต่อจีดีพี
กรณีที่3 การจัดหาวัคซีนได้น้อยกว่าเดิมและฉีดได้ช้ากว่า 64.6ล้านโดส จะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจแย่ลงอีก ทั้งนี้ ประมาณการ 3กรณีดังกล่าวยังไม่รวมมาตรการ หากอนาคตภาครัฐมีมาตรการเพิ่มเติมไม่ว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้หรือปีหน้า จีดีพีของไทยจะดีกว่าประมาณการผลกระทบจากระลอก3 หรือไวรัสที่กลายพันธุ์และผลของการฉีดวัคซีนเท่านั้น
ทั้งนี้แม้แนวโน้มการส่งออกจะได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า แต่ธปท.มีความกังวลต่อการจ้างงาน เนื่องจากการส่งออกภาคการผลิตมีชั่วโมงการทำงานเพิ่มสูงขึ้นแต่จำนวนคนไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะการใช้เครื่องจักรแทนคนซึ่งแนวโน้มอนาคตเครื่องจักรจะเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นความเสี่ยงต่อการจ้างงานของไทยด้วย โดยคาดหวังว่าภาคการส่งออกจะเข้ามามีส่วนผยุงการจ้างงาน ขณะที่ยอดขายค้าปลีกปรับลดลง และโรงแรม ร้านอาหาร และขนส่งผู้โดยสารได้รับผลกระทบทุกระลอกค่อนข้างมากแม้จะปรับตัวแต่รายได้ลดลงจึงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวช้าในระยะต่อไป โดยเฉพาะรายที่ได้รับผลกระทบซ้ำเติมแต่ละระลอก
นอกจากผลกระทบภาคธุรกิจแล้ว เรายังเป็นห่วงเรื่องการจ้างงาน ผลกระทบซ้ำเติมตลาดแรงงาน 2ด้านคือ ผลกระทบระยะยาว ถ้าตลาดแรงงานซบเซานานคนหางานทำไม่ได้หลายคนอาจจะต้องออกจากตลาดแรงงานและสูญเสียทักษะ โดยพบว่า ข้อมูลว่างงานระยะกลาง (1เดือนถึง 1ปี) ปรับลดลง แต่การลดลงเป็นการย้ายจากการว่างงานระยะกลางเป็นระยะยาว จึงเป็นสัญญาณถ้าการว่างงานระยะยาวเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนภาคบริการ และกลุ่มคนจบใหม่และเริ่มทำงานจะถูกกระทบมาก และการเข้าสู่สังคมสูงวัย เหล่านี้เป็นผลกระทบที่จะกลายเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป