ไทยต้องเร่งเปลี่ยนผ่านจาก “ผู้ปรับใช้เทคโนโลยี” เป็น “ผู้นำเทคโนโลยี” (ตอนที่ 1)

20 พ.ค. 2564 | 22:05 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2564 | 11:05 น.

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดย : ธรรมทัช ทองอร่าม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี  

การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล(Digital Economy) เป็นสิ่งพึงประสงค์ที่ทุกประเทศต่างต้องการให้เกิดขึ้น ฉบับนี้ ขอกล่าวถึงเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร” พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลแบบใด

 

เริ่มจากความเข้าใจตัวเลขวัดระดับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่จัดทำโดยบริษัทหัวเว่ย(Huawei)ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลก เรียกดัชนีนี้ว่า Global Connectivity Index (GCI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดระดับการพัฒนาการผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ อาทิ บรอดแบนด์, ดาต้าเซ็นเตอร์, คลาวด์, บิ๊กดาต้า และ Internet of Things (IoT) เพื่อให้เกิดการพัฒนาเชื่อมโยงการสื่อสารให้มีความอัจฉริยะ ซึ่งจะเอื้อให้เกิดนวัตกรรมที่มีประโยชน์จนสามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเมื่อนำดัชนี GCI ปี 2020 มาเทียบกับระดับรายได้ต่อหัวของประชากรปี 2020 สามารถแบ่งลำดับการพัฒนาเทคโนโลยีออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มผู้เริ่มใช้เทคโนโลยี (Starters) 2. กลุ่มผู้ปรับใช้เทคโนโลยี (Adopters) และ 3. กลุ่มผู้นำเทคโนโลยี (Frontrunners) 

พบว่า กลุ่มผู้นำเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีรายได้ต่อหัว(GDP per Capita) ค่อนข้างสูง ขณะที่กลุ่มผู้ปรับใช้เทคโนโลยีส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่มผู้เริ่มใช้เทคโนโลยีส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งเมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัวของประชากรแต่ละกลุ่มเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2015-2020 พบว่า รายได้ต่อหัวของประชากรในกลุ่มผู้นำเทคโนโลยีจะเติบโตมากที่สุด เฉลี่ย 1.5% ต่อปี รองลงมาเป็น
กลุ่มผู้ปรับใช้เทคโนโลยี รายได้ต่อหัวเติบโตเฉลี่ย 0.7% ต่อปี ซึ่งไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้ และกลุ่มผู้เริ่มใช้เทคโนโลยี รายได้ต่อหัว 5 ปีที่ผ่านมาหดตัวเฉลี่ย -3.6%ต่อปี 

ไทยต้องเร่งเปลี่ยนผ่านจาก “ผู้ปรับใช้เทคโนโลยี” เป็น “ผู้นำเทคโนโลยี” (ตอนที่ 1)

ดังนั้น ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีสามารถบ่งชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล” หากประเทศใดมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลมาก ก็หมายความว่า ประเทศนั้นมีการสร้างและนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกันจนก่อให้เกิดนวัตกรรม แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของประเทศ เช่น “ภาคธุรกิจ” สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มสูงขึ้น “ภาคประชาชน” สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการติดต่อที่สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนตํ่า สามารถสืบค้นหาข้อมูลที่ต้องการอย่างรวดเร็วผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบ E-Commerce “ภาครัฐ” สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบจัดซื้อจัดจ้างที่รวดเร็วและโปร่งใสผ่าน G-Procurement การนำเทคโนโลยีจัดกลุ่มประชากรซึ่งภาครัฐสามารถนำมาประเมินความช่วยเหลือได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนั้น ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิดปี 2020 ที่ผ่านมา พบว่า รายได้ต่อหัวของประชากรทุกประเทศต่างลดลง แต่เมื่อเจาะลึกลงไปตามเกณฑ์จัดกลุ่มประเทศตามระดับการพัฒนาเทคโนโลยี พบว่า กลุ่มประเทศผู้เริ่มใช้เทคโนโลยี รายได้ต่อหัวลดลงสูงสุดถึง -13.4% รองลงมาคือ กลุ่มผู้ปรับใช้เทคโนโลยี รายได้ต่อหัวลดลง -8.4% ขณะที่กลุ่มประเทศผู้นำเทคโนโลยี ลดลงเพียง -2.3% ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถกล่าวได้ทั้งหมดว่า ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญทำให้รายได้ต่อหัวลดลง เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขลดลงในระดับที่แตกต่างกัน 

แต่อย่างน้อย ก็พออนุมานได้ส่วนหนึ่งว่า ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบจากโควิด-19 ได้ กล่าวคือ ช่วงการแพร่ระบาด กลุ่มประเทศผู้นำเทคโนโลยีและผู้ปรับใช้เทคโนโลยี เศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ได้แก่ การทำงานที่บ้าน(Work from home) การซื้อขายสินค้าออนไลน์ การสื่อสารกับประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ฯลฯ จะเห็นว่า ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีหรือการใช้เทคโนโลยีช่วยลดแพร่กระจายของเชื้อโรค และประคองธุรกิจบางส่วนได้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อนำพาประเทศให้เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรม 4.0 (เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเปลี่ยนจากการใช้แรงงานในอุตสาหกรรม ไปสู่การใช้นวัตกรรม)  

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564