นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในงานเสวนา EEC MACROECONOMIC FORUM โดยยืนยันสถานะทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง โดยหนี้สาธารณะของไทยปัจจุบัน อยู่ที่ 54.28% ต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับปี 2543 ที่สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่กว่า 59% เกือบแตะที่ 60% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตามหนี้สาธารณะของไทยจะรวมหนี้ที่ก่อโดยรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งหากไม่รวมจะทำให้หนี้สาธารณะไทยที่รัฐบาลกู้โดยตรง อยู่ที่ 35% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตามในแผนนโยบายการคลังระยะปานกลาง (ปี 2565 – 2568) ได้กำหนดเรื่องการปรับโครงสร้างทางภาษี เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“หนี้สาธารณะไทยเคยเกือบแตะที่ระดับ 60% ต่อจีดีพี จากวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยปี 2543 หนี้สาธารณะลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ส่วนการกู้เงินเพิ่มเติม ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินนโยบายในช่วงถัดไปต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 เพราะหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลาย ยังมีความจำเป็นต่อมีความต่อเนื่องของในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
พร้อมกันนี้ได้เปิดเผยความคืบหน้า การใช้จ่ายเงิน ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 13 พ.ค. 64 รัฐบาลอนุมัติโครงการแล้ว 287 โครงการ วงเงิน 833,475 ล้านล้านบาท คงเหลือที่ยังไม่ได้อนุมัติอีก 166,524 ล้านบาท โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ทำการกู้เงินแล้วจำนวน 703,841 ล้านบาท หรือ 70% ของวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายแล้ว 651,320 ล้านบาท ดังนั้นจนถึงสิ้นปี 2564 ยังมีวงเงินที่ยังใช้อีกกว่า 350,000 ล้านบาท
ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปัจจุบันของไทยที่ อยู่ที่ 54.3% ต่อจีดีพี เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่พุ่งเกินกว่า 60% ต่อจีดีพี และบางประเทศพุ่งเกิน 100% ต่อจีดีพีประเทศ ดังนั้นจึงมองว่าด้วยวิกฤติปัจจุบัน แต่ยังมีปัจจัยเอื้อจากอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ หากสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถชำระหนี้คืนได้ ก็มองว่าการที่หนี้สาธารณะของไทยจะพุ่งเกินเพดานที่ 60% ต่อจีดีพี ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตกใจ
ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินที่ต้องพูดถึงต่อไป ไม่ใช่เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับ 0.5% ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และจะอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ไปอีก 1- 2 ปี แต่ประเด็นที่ต้องพูดถึง คือ สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินไทยที่มีอยู่ถึง 2.3 ล้านล้านบาท จะทำอย่างไรให้กระจายเข้าสู่ระบบธุรกิจและครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากกการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการกู้เงินเพื่อใช้ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
“เงินสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ปัจจุบันมีสูงมาก ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน มองว่าต้องกระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจให้ได้ รวมทั้ง ในการกู้เงิน พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาท ก็มองว่าสามารถโยกเงินส่วนนี้ไปใช้ได้” นายดอน กล่าว
ทั้งนี้ นายดอน แสดงความเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนไทยที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 89% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 14 ล้านล้านบาท โดยหนี้ส่วนใหญ่กว่า 58% เป็นหนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต ซขณะที่ต่างประเทศที่หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งหากหนี้ครัวเรือนไทยยังพุ่งสูงในระดับเฉลี่ย 1.2 เท่าเหมือนในอดีต จะทำให้ปี 2568 หนี้ครัวเรือนไทยอาจพุ่งไปอยู่ที่ 92.8% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 18.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการคุมการก่อหนี้ เพราะหากตัวเลขหนี้ยังพุ่งสูงอาจส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินได้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคภาคตะวันออก กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และปัจจุบันต่างกัน ซึ่งในปี 40 รัฐบาลและเอกชนไทยต่างเป็นหนี้สูง จนทำให้ต่างชาติมองถึงความสามารถในการชำระหนี้ของไทย ทำให้ผู้แทน IMF ประจำประเทศไทยส่งรายงานถึง IMF ในกรณีเลวร้าย ไทยอาจจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงถึง 70% ถึง 80% ต่อจีดีพี ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น กำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี ซึ่งไทยสามารถบริหารและคุมตัวเลขหนี้สาธารณะไว้ที่ระดับ 59% กว่าต่อจีดีพีได้
“สถานการณ์ต่างกันสิ้นเชิง เพราะตอนนี้สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินไทยสูงมาก และหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ก่อขึ้นในประเทศ ดังนั้น การที่หนี้เกิน 60% จึงไม่ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยถึงกับล้มสลาย แต่รัฐบาลต้องอธิบายความจำเป็นในการกู้เงิน” นายคณิศ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เสนอ 8 แนวทางใช้เงิน 7 แสนล้าน "อนุสรณ์" แนะตัด-ชะลอใช้จ่ายการซื้ออาวุธทางทหาร
“หญิงหน่อย”จี้รัฐแจง 3 ข้อ ห่วงเงินกู้ 7 แสนล้านฟื้นศก.-แก้โควิดไม่ได้