สมาคมประกันวินาศภัย ลั่นประกันภัยไม่หวั่น แม้ยอดติดเชื้อโควิดทะลุ2แสนราย ย้ำฐานะเงินกองทุนแกร่ง-บริหารเสี่ยงส่งภัยต่อ หวังฉีดวัคซีนเกิดภูมิคุ้มกันเดือนมิ.ย.ปี64 ลุ้นเปิดประเทศดึงนักท่องเที่ยวหลังเบี้ยประกันเดินทางติดลบ 53% ชี้แนวโน้มเบี้ยประกันเฉพาะโรคชิงตลาดสุขภาพ
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย(TGIA) เปิดเผยว่า ปีนี้ปัจจัยส่งออกและนำเข้ายังเป็นปัจจัยบวก ซึ่งจะสนับสนุนเบี้ยประกันภัยจะขยายตัวได้ แต่สถานการณ์ระบาดของโควิดภายในประเทศที่รุนแรงขึ้นค่อนข้างมาก ยังเป็นปัจจัยลบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเบี้ยประกันภัย โดยเฉพาะปริมาณผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศในปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 1.3แสนราย ผู้ป่วยหนักเพิ่ม 1,200คนต่อวัน ผู้ป่วยอยู่ในICU 400รายโดยไม่ปรับลด บุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างหนัก และยอดผู้ป่วยยังอยู่ระดับ 3,000รายต่อวัน
อย่างไรก็ตามไตรมาส1ของปีนี้ พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อ 100คนจะมีการทำประกันภัยไม่เกิน 10คน แต่เดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมายอดคนทำประกันภัยโควิดอาจจะเพิ่ม 15-20% หากแนวโน้มจำนวนของผู้ติดเชื้อยังเพิ่มถึง 4,000รายคาดว่าจะมีคนทำประกันถึง 25-30% แม้ผู้ป่วยสะสมจะทะลุเท่าตัวบริษัทประกันภัยยังสามารถรองรับความคุ้มครองได้เพราะบริษัทมีฐานะการเงินและความเพียงพอของเงินกองทุนซึ่งสอดคล้องกับการรับประกันภัยโควิด
“ ถ้าผู้ป่วยเพิ่มวันละ 2,500คนต่อวันจากตอนนี้ผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 1.3แสนคน แนวโน้มผู้ป่วยอาจเพิ่มต่อเดือน 7.5หมื่นรายซึ่งคาดว่าภายในเดือนมิ.ย.อาจจะทะลุ 2แสนราย หากมีการทำประกันภัย 20%หรือ 4,000รายค่าเคลมจะอยู่ที่ประมาณ 3,000ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 7.5-8หมื่นบาทบริษัทประกันยังรับไหว ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นความหวังใหญ่ หากเดือนมิ.ย.ฉีดวัคซีนได้ 5ล้านคนคงจะสร้างภูมิคุ้มกันได้”
ทั้งนี้ เนื่องจากประกันภัยโควิดนั้น ความคุ้มครองต่อคนไม่สูง แต่โอกาสการติดเชื้อมากกว่าประกันภัยทั่วไป แต่ละบริษัทเริ่มปรับตัวพิจารณาความสามารถของตัวเอง เช่น กรมธรรม์ที่มีการจ่ายเคลมสูงสุด 70-80%จะเป็นกรมธรรม์ประเภท “เจอจ่ายจบ” ซึ่งหลายบริษัทชะลอการขายหรือหยุดขายไปบ้างแล้ว หรือปรับลดวงเงินความคุ้มครองลง
สำหรับเรื่องการเคลมประภัยภัยโควิดนั้น ยังมีความเสี่ยงที่ต้องรับผิดชอบถึงเมษายนปี 2564 เพราะกรมธรรม์เพิ่มเข้ามาถึง 15พฤษภาคมปีนี้ 3,500ล้านบาท แต่ถึงเดือนมิถุนายนถ้าหากผู้ติดเชื่อสะสมเพิ่มเป็น 2แสนรายบริษัทประกันภัยยังรับไหว ส่วนยอดเคลมประกันภัยโควิดของปี 2563 คาดว่าจะสรุปในสิ้นปีนี้ เพราะกรมธรรม์ที่ขายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้นในไตรมาส 1 ของปีนี้ทั้งยอดขายและยอดเคลมยังไม่มาก แต่แนวโน้มจะเข้ามามากขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นตั้งแต่เดือนเมษาถึงปัจจุบันมีการทยอยเคลมเข้ามาประมาณ 7-10%
นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย(TGIA) กล่าวเสริมว่า ธุรกิจประกันภัยมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพและกระจายความเสี่ยงภัยโควิด เห็นได้จากหลายบริษัทที่ขายประกันภัยโควิดนั้นมีการส่งภัยต่อป้องกันพอร์ตของบริษัทตัวเองอยู่แล้ว
“ไตรมาสแรกเบี้ยประกันภัยรับตรงเติบโต 2.4%ซึ่งผลกระทบจากโควิดยังไม่ชัดแต่เป็นเบี้ยประกันภัยรับมีอัตราเติบโตสวนทางจีดีพีที่ติดลบ 2.6% ไตรมาสแรกเบี้ยโควิดเหลือเพียง 800ล้านบาท จำนวน 1.3ล้านฉบับ แต่เฉพาะ4เดือนครึ่ง(ม.ค.-15พ.ค.64)ปรากฏยอดขายประกันโควิดเพิ่มเป็น 3,500ล้านบาทจำนวน 9ล้านฉบับหรือกรมธรรม์ สะท้อนการเร่งตัวขึ้นของประกันภัยโควิดในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เนื่องจากการระบาดรอบใหม่ทำให้สัญญาณการซื้อประกันภัยเข้ามาเพิ่ม”
ขณะที่เบี้ยประกันสุขภาพรวมเบี้ยโควิดไตรมาสแรกติดลบ 23% และประกันภัยการเดินทางที่ติดลบ 53.6% ซึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวเนื่องจากยังไม่เปิดประเทศ ช่วงที่เหลือจึงขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศและภูเก็ตโมเดลที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว ส่วนแนวโน้มปี2564 โอกาสเบี้ยประกันภัยรับจะเติบโตประมาณ 2.4-5% ขึ้นอยู่กับการส่งออกและการเปิดประเทศจะสามารถทำได้รวดเร็วแค่ไหน เหล่านี้จะขับเคลื่อนเบี้ยประกันภัยสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยในปีนี้
นายอานนท์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ปัจจัยส่งออกและนำเข้ายังเป็นปัจจัยบวก ซึ่งจะสนับสนุนเบี้ยประกันภัยจะขยายตัวได้ แต่ยอดขายรถยนต์ใหม่ที่ผ่านมาติดลบ 18.4%จากปีก่อนติดลบกว่า 21.4% ดังนั้นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่เติบโต 2.5%ในไตรมาสแรกของปีนี้น่าจะมาจากยอดขายรถปลายปีก่อนที่เพิ่งส่งมอบต้นปีนี้ แต่สิ้นปีคาดว่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ยังติดลบตามแนวโน้มยอดขายรถยนต์
ทั้งนี้ จากแนวโน้มสถิติการเคลมที่ปรับลดลง และยอดขายรถยนต์ใหม่น้อย ช่วงที่เหลือน่าจะเห็นส่วนลดเบี้ยประกันภัย 7-10%ที่บริษัทประกันแข่งขันลง เพื่อเพิ่มยอดขายและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยการปรับลดเบี้ยประกันภัยลง ซึ่งสอดคล้องอัตราLoss Ratio ที่ลดลง
นอกจากนี้ในส่วนของแนวโน้มเบี้ยประกันสุขภาพนั้น มีโอกาสปรับลดลง เพราะแนวโน้มจากบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิตทยอยออกโปรดักต์ประเภทคุ้มครองเฉพาะโรค เห็นได้จากแพกเกจ 6โรคร้ายแรงหรือ 4โรคร้ายแรง ขณะเดียวกันโรงพยาบาลหลายแห่งหันมาทำตลาดโปรแกรมตรวจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งราคาค่อนข้างถูก หรือแคมเปญซื้อ 1 แถม 1 ประกอบกับเมื่อสุขภาพคนดีขึ้นความจำเป็นในการซื้อประกันสุขภาพก็น้อยลงและเบี้ยประกันสุขภาพอัตราสูงเพราะต้องคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลทุกโรค แต่อนาคตคนจะเลือกซื้อประกันภัยเฉพาะโรคแทน เช่น ปัจจุบันคนกลัวการติดเชื้อโควิดก็เลือกซื้อประภัยภัยโควิด
ต่อข้อถามผลกระทบจากมาตรฐานการรายงานทางการเงิน หรือ IFRS17 นายอานนท์กล่าวว่า ธุรกิจวินาศภัยมีผลกระทบไม่มาก เพราะกรมธรรม์ส่วนใหญ่เป็นกรมธรรม์ระยะสั้น การกันสำรองสินไหมจะเป็นระยะสั้น แตกต่างจากธุรกิจที่มีความคุ้มครองระยะยาว แต่ปัญหาของธุรกิจวินาศภัยขณะนี้คือ เรื่องระบบภาษี ซึ่งกรมสรรพากรยังไม่มีสัญญาณจะปรับระบบภาษีอย่างไร ถ้าหากมีผลบังคับใช้IFRS17 บริษัทประกันวินาศภัยจะมีภาระในการตั้งสำรองต่างๆเพิ่มขึ้น แต่หากระบบภาษียังเป็นระบบเดิมจะเป็นภาระของธุรกิจ ซึ่งทั้งคะทำงานและที่ปรึกษากำลังหารือผลกระทบด้านต่างๆ ด้านต่างๆ