ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มี มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ สถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 หลังการระบาดของโควิด-19 ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้เดิม และการเพิ่มสภาพคล่อง ล่าสุดร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และผู้ให้บริการทางการเงิน 12 แห่ง ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์รวมกันมากกว่า 65% ร่วมกันจัดงาน มหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ ขึ้น ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-31 กรกฎาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่ง กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีลูกหนี้ที่ติดต่อขอรับความช่วยเหลือประมาณวันละ 200 ราย โดยที่ 10% เป็นลูกหนี้ที่ติดต่อผ่านมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธปท.ในช่วง 7 วันแรก และในจำนวนนี้ มีลูกหนี้ที่ขอคืนรถยนต์ส่วนน้อยเพียง 1% เท่านั้น หลังจากบริษัทได้อธิบาย ทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับการคืนรถยนต์ เช่น กรณีนำรถยนต์ออกประมูลขาย อาจทำให้เกิดส่วนสูญเสียหรือมีส่วนขาดทุน ซึ่งเมื่อมีการพูดคุยจนเข้าใจ ลูกหนี้เลือกจะเก็บรถยนต์ไว้ และเลือกแนวทางพักชำระค่างวดหรือลดค่างวดแทน
“การที่ธปท.ออกมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง เป็นการประคองความช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและรอเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น หลังการควบคุมการระบาดของโควิดได้ ซึ่งบริษัทเองให้ความร่วมมือกับธปท.อย่างเต็มที่โดยพยายามจะแนะนำโปรแกรมช่วยเหลือของธปท.และพบว่า ลูกค้าเปลี่ยนใจไม่คืนรถยนต์ เพราะยังต้องการเก็บรถยนต์ไว้ใช้” นายธีรชาติกล่าว
การที่ลูกค้าคืนรถยนต์ นอกจากไม่มีรถยนต์ใช้แล้ว แต่ยังต้องรับภาระส่วนต่างจากส่วนสูญเสียหรือขาดทุน เพราะการประมูลขายส่วนใหญ่จะเสียราคา แม้ว่าในทางปฎิบัติ ลิสซิ่งกสิกรไทยจะช่วยดูแลลูกค้ากรณีเกิดส่วนสูญเสียไม่เกิน 50,000 บาทตามแนวทางของมหกรรมฯอยู่แล้ว แต่การประมูลขายมักจะเสียราคา และอาจสูญเสียมากกว่า 50,000บาท ดังนั้น ถ้าลูกค้าไม่ต้องการใช้รถแล้ว บริษัทจะแนะนำให้ขายรถยนต์เอง ซึ่งน่าจะได้ราคาดีกว่า เพื่อนำเงินมาปิดชำระหนี้
นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทจัดการประมูลรถยนต์กล่าวว่า ปริมาณรถยนต์รอประมูลขายปีนี้ลดลง โดยภาพรวมทั้งระบบช่วงครึ่งปี ลดอย่างราว 15-20% จากปกติที่มีเคยรถยนต์เข้ามา 30,000 คันต่อเดือน เฉพาะในส่วนของบริษัทฯ มีรถยนต์ในพอร์ตรอประมูลขายต่อเดือน 5,000 คัน ลดลงจากปกติ 7,000 คัน สาเหตุส่วนหนึ่ง เพราะธปท.มีนโยบายให้สถาบันการเงินเน้นปรับโครงสร้างหนี้ช่วยลูกหนี้ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่ จะคัดกรองลูกค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น
นายสุขสันต์ ยศสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโยกรุ๊ป จำกัด (CHAYO) กล่าวว่า ชโยมีพอร์ตเช่าซื้อที่รับซื้อหนี้เข้ามา โดยจะมีหนี้เหลือหลังขายและหนี้ที่มีรถยนต์อยู่ กรณีคืนรถยนต์บริษัทจะส่งรถยนต์เข้าศูนย์รับฝากของทางสหการประมูล ซึ่งมีระบบตรวจเช็กประเมินราคาและคุณภาพรถยนต์ ไม่เกิน 1 เดือนจะทราบผล กรณีที่มีหนี้ส่วนขาด จะดูเจตนาของลูกหนี้ บางแห่งจะเรียกเก็บหนี้เหลือขายหรือหนี้ส่วนขาด ซึ่งขึ้นอยู่สภาพทรัพย์ หากทรัพย์เกิดความเสียหายหรือลูกค้าไม่สุจริต บริษัทมีกติกาต้องเจรจากัน แต่แนวทางคืนรถยนต์เป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้หรือปิดบัญชี เช่นเดียวกับหนี้ประเภทบ้าน ที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตามก่อนหน้า ธปท.มีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ รวม 3.5 แสนล้านบาท
ล่าสุดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท.ชี้แจงต่อที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภาว่า สินเชื่อฟื้นฟูมียอดคงค้างคืบหน้ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ลูกหนี้ 8,218 ราย เฉลี่ย 2.5 ล้านบาทต่อราย จากที่ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 100,000 ล้านบาท ภายใน 6 เดือน ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มีผู้ประกอบการ 4 รายเข้าร่วม มูลค่าโอนสินทรัพย์ 910 ล้านบาท จากวงเงินโครงการ 2.5 แสนล้านบาท
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการภัตตาคารไทยที่ต้องการผ่อนเกณฑ์ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อ นายวิทัยรัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า สมาคมภัตตาคารไทยสามารถขอใช้สินเชื่อเอสเอ็มอีเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว วงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท อนุมัติไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี โดยผ่อนเกณฑ์ให้ใช้บุคคลค้ำประกันได้ แต่ต้องเรียนว่า ธนาคารออมสินยังต้องพิจารณาอนุมัติตามหลักเกณฑ์ เพราะต้องบริหารความเสี่ยงด้วยแต่หากเทียบดอกเบี้ยในระบบ เชื่อว่า ธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำที่สุดในระบบแล้ว
“ในหลักการ เรายังต้องพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระ ภายใต้หลักเกณฑ์อยู่ เพราะหากเกิดเป็นหนี้เอ็นพีแอลขึ้นมา เราต้องกันสำรองและรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ในแง่ของการให้ความช่วยเหลือสินเชื่อจึงต้องบริหารความเสี่ยงควบคู่เช่นกัน ยกตัวอย่างตอนนี้ เราปล่อยสินเชื่อ 10,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำเพียง 35 บาทต่อเดือน อนุมัติไปแล้ว 5 แสนบาท ยังประสบปัญหาหนี้เสียค่อนข้างมาก” นายวิทัยกล่าว
ทั้งนี้ผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ทำให้คุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2564 แม้หนี้เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.37 แสนล้านบาทหรือ 3.10% ของสินเชื่อรวม แต่สัดส่วนหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (stage2 หรือ SM) ลดลงเล็กน้อยจาก 6.62% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 6.41%
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,686 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564