โตโยต้าลดกำลังผลิต3% โอดพิษบาทแข็งทำกำไรหด

31 ม.ค. 2563 | 11:10 น.

พี่ใหญ่ “โตโยต้า” เลิกมองโลกสวย ประเมิน ตลาดในประเทศร่วง ส่งออกในเอเชีย-โอเชียเนียยังเหนื่อย พร้อมปรับกำลังผลิตลง 3% ชี้ค่าเงินบาทแข็งจะลดสถานะไทยจากที่เคยเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก ในการทำกำไรส่งให้บริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่น

ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกต้นปี ที่พี่ใหญ่ “โตโยต้า” จะแถลงสรุปยอดขาย และวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ต้องเผชิญไปอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยหลายปีที่ผ่านๆมามักท่องคาถาคาดการณ์กำลังผลิต และยอดขายในประเทศเป็นบวกเสมอ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี พร้อมเป็นกำลังใจให้รัฐบาล

ทว่าปีนี้ค่ายรถยนต์อันดับ 1 ของญี่ปุ่น กลับไม่มองว่าโลกสวยเหมือนเดิม เพราะคาดว่าตลาดรวมจะทำได้ 9.4 แสนคัน ลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับปี 2562 สาเหตุมาจากภัยแล้ง ราคาพืชผลการเกษตรตกตํ่า และความเข้มงวดของสถาบันการเงิน

มากไปกว่านั้นยังประกาศว่า กaำลังผลิตของโตโยต้าในประเทศไทย ปี 2563 จะลดลง 3% ด้วยจำนวน 5.56 แสนคัน แบ่งการขายในประเทศ 3.1 แสนคัน หายไป 6.7% โดย
ทั้งกลุ่มรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์ยอดตกด้วยกันทั้งหมด ส่วนตัวเลขส่งออกเหลือ 2.63 แสนคัน ลดลง 1% เมื่อเทียบกับปี 2562

สำหรับตลาดในประเทศ โตโยต้าตั้งเป้าขายลดลงเท่ากับอัตราส่วนของตลาดคือ 6.7% นั่นหมายความว่าให้ความสำคัญในการรักษาส่วนแบ่งการตลาด 33% เอาไว้ให้ได้ ซึ่งปี 2562 โตโยต้าประสบความสำเร็จในการขยับส่วนแบ่งการตลาดขึ้นไปได้ 2.8%

ทั้งนี้ โตโยต้า มี 3 ฐานการผลิตในประเทศไทย คือ 1. สำโรง จ.สมุทรปราการ 2. เกตเวย์ และ 3. บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิตเต็มที่ 7.7 แสนคันต่อปี

“ปีนี้เราวางแผนการผลิตรวมของโตโยต้าอยู่ที่ 5.56 แสนคัน ลดลง 3% ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในกลุ่มคู่ค้ายังไม่คลี่คลาย มีผลโดยตรงต่อการส่งออกแม้สถานการณ์ในตะวันออกกลางเริ่มมีความหวังเห็นแสงสว่างมากขึ้น แต่ตลาดภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนียยังยากลำบาก” นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) กล่าว

โตโยต้าลดกำลังผลิต3% โอดพิษบาทแข็งทำกำไรหด

นายใหญ่ของ TMT ยังตอบคำถามเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่แข็งตัวต่อเนื่องว่า มีผลกระทบต่อกำไรในการส่งออก ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนโดยตรงต่อโครงสร้างราคา ที่เราซื้อ-ขายในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ

“ตอนนี้การผลิตรถยนต์ของเราใช้ชิ้นส่วนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และน้อยมากที่จะมีการนำเข้าชิ้นส่วน เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ประโยชน์จากบาทแข็งเลย และไม่ทราบว่าจากนี้ค่า
เงินจะผันผวนไปเช่นไร แต่เรายังพยายามทำงานหนักอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุน”

 

นายซึงาตะ กล่าวว่า ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญเพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออก โดยสถานการณ์ปัจจุบัน แม้บริษัทจะยกระดับประสิทธิภาพการผลิตแล้ว แต่การแข็งค่าของ
เงินบาทเหนือกว่าความพยายาม ของบริษัท ซึ่งส่งผลให้สถานะการทำกำไรของ TMT ตกตํ่าลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆมา

“การจะรักษาสถานะให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกในระดับโลกของโตโยต้า คงต้องใช้ความพยายามยิ่งกว่าเดิม แต่ขอยืนยันว่าจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่(ย้ายฐานผลิตหนี) เพราะเรายังมองเห็นศักยภาพของไทยในการเป็นฐานผลิตที่สำคัญ” นายซึงาตะ กล่าว

การประเมินของโตโยต้า ยังสอดคล้องกับรายงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ว่า ปีนี้ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ สงครามการค้า, ค่าเงินบาทที่แข็งค่า, เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว, ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น, ราคาพลังงานที่มีความผันผวน, ภัยแล้ง, ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน

“ปัญหาเรื่องสงครามการค้ามีผลกับเศรษฐกิจโลก แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เงินบาทที่แข็งค่า เพราะผู้ผลิตได้รับความเสียหายเยอะ โดยอาจจะส่งออกน้อยลง มีผลทำให้ทบทวนเรื่องการย้ายฐานผลิต เพราะค่ายรถส่วนใหญ่จะมีโรงงานตั้งอยู่ในหลายประเทศ ทำให้สามารถโยกการผลิตได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่เราต้องจับตามองคือเรื่องภัยแล้ง และความเข้มงวดของสถาบันการเงิน” นายสุรพงษ์  ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าว

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมฯ คาดว่ายอดผลิตรถยนต์ปี 2563 จะทำได้ 2 ล้านคัน ลดลง 0.68% แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน และผลิตเพื่อขายในประเทศ 1 ล้านคัน 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,544 วันที่ 30 มกราคม -1 กุมภาพันธ์ 2563