ในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ รถยนต์กลุ่ม xEV ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มไฮบริด (HEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) น่าจะมียอดขายประมาณ 48,000 - 50,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 10 - 23 % ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัว 17% หรือคิดเป็นยอดขาย 31,000 คัน
ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) น่าจะมียอดขายประมาณ 4,000 – 5,000 คัน ขยายตัว 176 - 245 % โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัว 102 % หรือ คิดเป็นยอดขาย 1,450 คัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศปี 2564 น่าจะทำได้ 72,000 -80,000 คัน ขยายตัวกว่า 60 - 78 % จากที่คาดว่าจะผลิตประมาณ 45,000 คัน ในปี 2563
สำหรับปัจจัยที่มีผลทำให้ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV เติบโตนั้น เป็นเพราะว่า การเข้ามาแข่งขันของค่ายรถที่ทวีความดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรถยนต์หลายรุ่น กลุ่ม xEV เริ่มเข้ามารุกตลาดกลุ่มราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดตลาดสู่กลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากมาตรการส่งเสริมใหม่ของบีโอไอสามารถดึงการลงทุนเข้ามาปี 2564 ได้มากและภาครัฐมีการออกมาตรการส่งเสริมตลาดเข้ามาเพิ่มเติมที่เน้นสนับสนุนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ รถยนต์กลุ่ม xEV ก็น่าจะช่วยให้ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดได้ ถือเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด
นอกจากนั้นแล้วหากไทยใช้จังหวะโอกาสนี้ทำตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศให้เติบโตได้ดีจะช่วยเสริมแรงดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น เป็นโอกาสให้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ กลุ่ม xEV ของภูมิภาคได้ไม่ยาก
รถเก่าแลกรถใหม่ อาจส่งผลดีกับรถไฟฟ้า
“รถเก่าแลกใหม่” ที่แม้ตอนนี้จะถูกดึงกลับไปพิจารณาถึงผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ อีกครั้ง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหากมีการผลักดันนำเข้ามาใหม่ด้วยมาตรการที่ชัดเจน และเหมาะสม ก็คาดว่าจะน่าจะช่วยเร่งให้ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผลของมาตรการขึ้นอยู่กับการ ออกแบบที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆ อาจนำไปพิจารณาเพิ่มเพื่อประสิทธิผลที่สูงขึ้น ได้แก่ เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยเปรียบเทียบกับราคาที่ ผู้บริโภคจะสามารถขายต่อมือสอง เรื่องความพร้อมของอุตสาหกรรมกำจัดซากรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในประเทศ เรื่อง มาตรการจำกัด และลดปริมาณรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีในอนาคตเพื่อลดความต้องการถือครองรถยนต์เก่าของผู้บริโภคลง
และสุดท้ายเรื่องกรอบระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่เร็ว และสั้นจนเกินไป เนื่องจากรถยนต์กลุ่ม xEV ที่ผลิตในประเทศ ปัจจุบันยังมีไม่มาก และการขึ้นสายผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ต้องอาศัยระยะเวลา แต่หากวางแผนได้ดีจะเป็นโอกาสให้ค่ายรถดึงรุ่น ที่มีการผลิตในต่างประเทศแล้วให้เข้ามาไทยเร็วขึ้น
ขยายจุดชาร์จให้ครอบคลุม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยเร่งที่ควรพิจารณาคือ การเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อรถ โดยข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยรายงานว่าปัจจุบันไทยมีสถานีชาร์จไฟฟ้าประมาณ 647 แห่ง (1,974 หัวจ่าย) หรือคิดเป็นสัดส่วนสถานีชาร์จ 1 แห่งต่อพื้นที่ 793 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น (กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่)
ตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่างกันมากกับประเทศที่กำลังแสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาด BEV และ PHEV ให้เติบโตเช่นกันอย่างสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมีสถานีชาร์จ เรียบร้อยแล้วกว่า 28,000 สถานี (90,000 หัวจ่าย) (ข้อมูลข่าวของสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563) คิดเป็นสัดส่วนสถานีชาร์จ 1 แห่งต่อพื้นที่ 351 ตารางกิโลเมตร และภายในปี 2573 สหรัฐมีแผนจะเร่งเพิ่มหัวจ่ายขึ้นอีก 500,000 หัวจ่าย อันจะทำให้สัดส่วนสถานีชาร์จของสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 แห่งต่อพื้นที่ 53 ตารางกิโลเมตร
ตลาดรวมปี 63 หดตัว แต่ปี 64 จะฟื้น คาดยอดผลิตแตะ1.6 ล้านคัน
ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งประเทศไทยและต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ต่างต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่าตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2563 น่าจะทำยอดขายได้ 770,000 คัน หรือหดตัวสูงถึงกว่า 23.6 % เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ทำยอดขายได้ 1,007,552 คัน
อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ปี 2564 หากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น เหมือนดังเช่นที่หลายฝ่ายประเมิน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564 จะขยายตัวได้กว่า 7 - 11 % หรือจำนวน 825,000 - 855,000 คัน
ส่วนปริมาณการผลิตรถยนต์รวมของประเทศน่าจะทำได้ 1,550,000 - 1,620,000 คัน ขยายตัวกว่า 10 -15 % จากปีนี้ที่คาดว่าจะผลิตได้ 1,410,000 คัน หดตัวกว่า 30 % จากปีก่อน
สำหรับปัจจัยสนับสนุนตลาดรถยนต์ในปี 2564 ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ,การได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งถือเป็นปัจจัยช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยเพราะเมื่อการท่องเที่ยว การลงทุน และการค้าขายระหว่างประเทศกลับมาคึกคัก นอกจากนั้นแล้วการที่ค่ายรถยนต์ออกแคมเปญแข่งขันกัน ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่มีผลโดยตรงกับทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2564
อย่างไรก็ตามคาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บน สมมติฐานที่ว่าภาครัฐไม่มีความจำเป็นต้องดึงมาตรการล็อกดาวน์มาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกครั้งในปีหน้า