ปฏิบัติการปิดล้อม “เทอมินอล21 โคราช” เมื่อเย็นวันที่ 8 ก.พ. 63 ข้ามคืนมาจนถึงเช้าวันที่ 9 ก.พ. เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้บริสุทธิ์ออกมาจากห้าง และจัดการกับ “จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา” ทหารค่ายสุรธรรมพิทักษ์ คนร้ายมือกราดยิงจนสำเร็จ
หนึ่งในปฏิบัติการนี้ที่โซเชียลมีเดียร์มีการแชร์ภาพชื่นชม คือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. หรือ บิ๊กแป๊ะ นำทีมลงบัญชาการและควงคู่ลูกชายแต่งชุดคอมมานโดเต็มยศ ไล่ล่าคนร้ายภายในห้างเทอมินอลโคราช
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากบิ๊กแป๊ะแล้ว ขุมกำลังแบคอัพที่ดีของภารกิจนี้ มีหลายหน่วยร่วมในภารกิจ ก็ล้วนเป็น “ของจริง” ที่วงการสีกากีรู้มือกันดี หนึ่งในนั้นคือ “บิ๊กต่อ-พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการครั้งสำคัญในครั้งนี้ถูกพูดถึงและได้รับความสนใจจากสังคม
พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล
บิ๊กต่อ เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2507 ที่จังหวัดเพชรบุรี มีพี่น้อง 5 คน เป็นบุตรคนสุดท้องของนายนิพนธ์ และนางสมนึก สุขวิมล สมรสกับคุณนิภาพรรณ มีบุตรสาว 2 คน ชื่อของ “บิ๊กต่อ” ได้รับเสียงชื่นชมในโลกโซเชียล หลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปรากฏภาพนายตำรวจใหญ่ท่านนี้แต่งกายเต็มยศก้มกราบหญิงชราที่มาเฝ้ารับเสด็จฯอยู่ริมถนน
เส้นทางชีวิตของนายตำรวจท่านนี้ไม่เหมือนนายตำรวจใหญ่รายอื่น จบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานอยู่ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมีการเปิดสอบตำรวจสายสอบสวนจึงไปสอบ หลังจากสอบติดได้เข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์เพื่อบรรจุเข้าเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร สายสอบสวน (กอต.) รุ่นที่ 4
เข้าเป็นตำรวจครั้งแรก ดำรงตำแหน่งเป็นรองสารวัตร อยู่ที่ กองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 เป็นเวลา 2 ปี โดยในปี 2543 ขณะติดยศร้อยตำรวจโทได้ไปเรียนที่ โรงเรียนสืบสวนที่วิทยาลัยการตำรวจ เรียนจบสอบได้ที่ 3 ตามกติกาผู้ที่สอบได้ที่ 1 และ 2 จะไปอยู่กองปราบ แต่เนื่องจากเวลานั้นคนที่ได้ที่ 1 อยู่กองปราบอยู่แล้ว ขณะที่คนที่ได้ที่ 2 เป็นครูจากศูนย์ฝึกอบรมไม่มา จึงได้ย้ายจาก 191 ปรับมาเป็น รองสารวัตร อยู่ในสังกัดกองปราบปรามเป็นหัวหน้าชุดสืบ อยู่งานแผนก 3 กอง 2 รถวิทยุ
จากนั้นออกไปขึ้นเป็น สารวัตร ที่ตำรวจท่องเที่ยว อยู่สถานี 3 กองกำกับการ 1 ดูแลรถวิทยุฝั่งธน ต่อมาได้ย้ายจากสายตรวจท่องเที่ยวมาดำรงตำแหน่ง สารวัตรกองร้อยที่ 3 คุมเรื่องของการปราบจราจล ทำอยู่ได้ไม่นาน เมื่อมีการเปลี่ยน ผบ.ตร. คนใหม่ได้สับเปลี่ยนตำแหน่งให้มาคุมรถสายตรวจกองร้อยที่ 5 กระทั่งได้ขึ้นเป็น รองกำกับการหน่วยการพิเศษ
หลังจากเข้าเรียนโรงเรียนผู้กำกับ เป็น รองผู้กำกับ ก็ได้รักษาการผู้กำกับการหน่วยการพิเศษมาจนครบวาระของการเป็นผู้กำกับ กระทั่งได้ขึ้นเป็น รองผู้การที่กองปราบปราม ดูแลกองกำกับการหน่วยการพิเศษ มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ เป็นพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรฯ และทำหน้าที่ชุดอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ โดยรับหน้าที่สำคัญมาตั้งแต่วันนั้น
ต่อมาในวันที่ 27 มกราคม 2562 ทรงมีพระราชกิจจาพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904
พล.ต.ต.สยาม บุญสม
ส่วนอีกคน “พล.ต.ต.สยาม บุญสม ผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 นายตำรวจระดับพระกาฬที่พูดน้อยแต่ทำจริง ที่รับไม้นั่งเก้าอี้ต่อจากบิ๊กต่อ ดีกรีเป็นอดีต รองผู้บังคับการกองปราบ และรองผบก.ปอท. เรียนจบนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 46 นอกจากเป็นตำรวจที่เก่งในเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ยังชำนาญเรื่องงานบริหาร ดูแลกิจการพิเศษ รวมทั้งจุดคัดกรองในงานพระราชพิธีที่สำคัญด้วย
ย้อนไปเมื่อ 30 ก.ย. 62 วันส่งมอบตำแหน่ง ที่กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ส่งมอบตำแหน่งและธงประจำหน่วยให้กับ พ.ต.อ.สยาม โดยในงานมีรอง ผบก.ตร.มหด.รอ.904 ข้าราชการตำรวจในสังกัด เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียง
หลังเสร็จพิธี พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ได้กล่าวคำอำลากับข้าราชการตำรวจในสังกัดที่มาร่วมพิธี จากนั้นได้รับมอบดอกกุหลาบแดง จากข้าราชการตำรวจในสังกัด เพื่อเป็นการอำลาและยินดีกับตำแหน่งใหม่ของ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ พร้อมตั้งแถวยืนส่งขึ้นรถยนต์ส่วนตัว โดยระหว่างขึ้นรถพล.ต.ต.ต่อศักดิ์ มีสีหน้ายิ้มแย้มทักทายผู้ใต้บังคับบัญชาที่มาร่วมในพิธี
ซึ่งก่อนปฏิบัติการที่โคราช พล.ต.ต. สยาม เปิดเผยว่า “ได้รับคำสั่งจาก พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้นำกำลังตำรวจหน่วยคอมมานโด เดินทางไปปฏิบัติการร่วมที่ จ.นครราชสีมา โดยจะร่วมกับหน่วยหนุมาน กองปราบฯ ตำรวจหน่วยนเรศวร 261 ตชด. และทหาร โดยกำลัง 12 นาย ถึงที่เกิดเหตุแล้วโดยเฮลิคอปเตอร์ และตัวเองกำลังนำกำลังไปสมทบอีก 12 นาย
พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช
และหนึ่งหน่วยงานี่ พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ พูดถึงก็คือกองปราบปราม นำโดย “พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช” ผู้บังคับการกองปราบ นำคอมมานโดลุยภารกิจนี้เช่นกัน พล.ต.ต.จิรภพ ชื่อเล่น “ก้อง” เกิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2518 อายุ 43 ปี เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 34 นักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 50 จบปริญญาโท คณะ MIS Management Information System (การบริหารข้อมูลสารสนเทศ) Central Michigan University สหรัฐอเมริกา จบปริญญาเอกวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบหลักสูตรเอฟบีไอรุ่นที่ 271 จากสหรัฐอเมริกา หลักสูตรวิเคราะห์ข่าวกรองอาชญากรรม ฯลฯ
เริ่มรับราชการตำแหน่งแรกเป็นรองสารวัตรฝ่ายปฏิบัติการ 3 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) เป็นรองสารวัตร แผนก 2 กก. 1 บก.ป. ก่อนติดยศ พ.ต.ต. เป็นสารวัตรตำรวจท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต จากนั้นก็ขึ้นเป็น รอง ผกก.ท่องเที่ยวภูเก็ต และได้ขึ้นเป็น ผกก.ท่องเที่ยวภูเก็ต ต่อมาได้ย้ายกลับถิ่นเก่ามาเป็น ผกก.1 บก.ป. เมื่อปี 2557 ขึ้นเป็นรอง ผบก.ป.เมื่อเดือน มิ.ย.2560 กระทั่งล่าสุดขึ้นเป็น ผบก.ป.หรือ ผู้การประเทศไทยคนที่ 36 ต่อจาก พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด
ซึ่งในวันรับมอบตำแหน่งต่อจาก พล.ต.ต.ไมตรี นั้น พล.ต.ต.จิรภพ ได้ลั่นวาจาเอาไว้ว่า “รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาดำรงตำแหน่ง ผบก.ป.อันทรงเกียรติ ก่อนอื่นขอขอบคุณผู้บังคับบัญชาทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจ ให้มาดำรงตำแหน่งนี้รวมถึงพี่น้องข้าราชการกองปราบทุกท่านตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันทำงานจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง