ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งตรงกับวันเปิดเทอม 2563 หรือ เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 คาดว่าจะมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป มาใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ ขนส่งมวลชน มากขึ้น ส่งผลให้ทางกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลระบบขนส่งฯ รวมไปถึงผู้ให้บริการรถสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าระบบต่างๆได้ประกาศมาตรการต่างๆเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และรองรับคนที่จะมาใช้บริการมากขึ้น
วันนี้ฐานเศรษฐกิจลองไปสำรวจความพร้อมของระบบขนส่งมวลชนรูปแบบต่างๆว่ามีแผนรับมือกับการเปิดเทอม พร้อมทั้งแผนรับมือหลังจากประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์ว่ามีอะไรบ้าง
-แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มอบส่วนลดค่าเดินทาง 20 %
แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ต้อนรับเทศกาลเปิดเทอมด้วยการ มอบสิทธิประโยชน์สำหรับนักเรียน -นักศึกษา ที่ใช้บัตรสมาร์ทพาสประเภทนักเรียนนักศึกษา(Student Card)จะมีส่วนลด 20% ในการเดินทาง รวมทั้งสิทธิพิเศษส่วนลดร้านค้า และบริการในระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์อื่นๆอีกมากมาย
ขณะที่การเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปิดเทอมนั้น คาดว่าจากเดิมที่มีผู้มาใช้บริการ 34,000 คน/วัน ก็จะเพิ่มเป็น 40,000 คน/วัน ดังนั้นต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ออกมารองรับได้แก่ ผู้โดยสารทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้าใช้บริการ ,ปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing เว้นระยะห่าง 2 เมตร ทั้งตอนซื้อตั๋วโดยสาร และตรวจวัดอุณหภูมิ ,ยืนในระยะห่างขณะใช้ลิฟต์ และบันไดเลื่อน งดเว้นการพูดคุยภายในตู้โดยสาร
หากในกรณีผู้โดยสารหนาแน่น จะดำเนินการจำกัดปริมาณผู้โดยสารที่จะขึ้นสู่ชั้นชานชาลาและภายในรถไฟฟ้า ( Group Release ) โดยกำหนดพื้นที่ในการยืนรอห่างกัน 1 เมตร ,เตรียมขบวนรถเสริม ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น วันจันทร์ – ศุกร์ จำนวน 24 เที่ยว/วัน หรือหากมีผู้โดยสารใช้บริการหนาแน่นมากก็จะพิจารณาเพิ่มเติมขบวนรถเสริมอีก
-รถไฟฟ้า บีทีเอสชวนโหลดแอป BTS SkyTrain
บีทีเอส ชวนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน BTS SkyTrain รู้ครบ จบเรื่องการเดินทาง ในแอปเดียว โดยผู้โดยสารสามารถเช็คเวลาให้บริการ เปิด
- ปิด กี่โมง ,ทางออกแต่ละสถานี ทางออกไปไหน , สถานะบนชานชาลา เป็นอย่างไร ,ตรวจสอบคะแนนรีวอร์ด บัตรแรบบิท หรือ อยากรู้ข่าวสาร ข้อมูลการจราจรต่าง ๆ รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ฟังก์ชั่นการใช้งานอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ก็ดูได้ที่แอป BTS SkyTrain
ส่วนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 นั้น ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาการใช้บริการ ,งดใส่ Face shield เพียงอย่างเดียว ควรใช้คู่กับหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า,ควรหลีกเลี่ยงการพูดคุยกันในขบวนรถ และงดสัมผัสใบหน้า ตา หรือจมูก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสฯ
หมั่นทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์/ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง โดยบีทีเอสมีแอลกอฮอล์ล้างมือให้บริการสำหรับผู้โดยสาร ตั้งอยู่ทุกสถานีที่โต๊ะตรวจการทั้ง 2 ฝั่ง และมีเจ้าหน้าที่ให้บริการแอลกอฮอล์บนชั้นชานชาลาในช่วงเวลาเร่งด่วน
-MRT แจกหน้ากากฟรี 1 ล้านชิ้น
ผู้โดยสารที่เติมเงินบัตรโดยสาร 500 บาทขึ้นไป รับหน้ากากผ้าฟรี 1 ชิ้น ที่ห้องออกบัตรโดยสารทุกสถานีจนกว่าของจะหมด หรือหากใครอยากได้ของฟรีก็ต้องรอเพราะในเดือนกรกฏาคม และ สิงหาคม จะแจกหน้ากากฟรี หลังจากแจกครั้งแรกไปเมื่อเดือนมิถุนายน โดยสามารถติดตามรายละเอียดการแจกหน้ากากผ้า BEM ในครั้งถัดไปผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของรถไฟฟ้า MRT
ส่วนมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 นั้น ก็มีข้อควรปฏิบัติด้วยกัน 7 ข้อ ได้แก่ 1.ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ใช้บริการรถไฟฟ้า 2.รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอื่น 1-2 เมตร ตลอดเวลาที่ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นในขณะโดยสารรถไฟฟ้า การรอรถไฟฟ้าที่ชานชาลา การใช้ลิฟต์ การซื้อบัตรโดยสาร รวมถึงการใช้เครื่องอัตโนมัติต่างๆ เช่นเครื่องออกเหรียญโดยสาร เครื่อง ATM
3.เปลี่ยนมาใช้บัตรโดยสารรถไฟฟ้า MRT หรือ MRT Plus สามารถเติมเงินเก็บไว้ใช้ได้ หนึ่งคน หนึ่งใบ เพื่อมีบัตรโดยสารไว้ใช้ส่วนตัว ลดการสัมผัสและลดการใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น 4.ผู้โดยสารสามารถซื้อเหรียญโดยสาร หรือเติมเงินในบัตรโดยสารได้ที่ตู้จำหน่ายอัตโนมัติ ที่ติดตั้งอยู่ทุกสถานี เพื่อลดการติดต่อสัมผัสโดยตรงกับพนักงาน ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้จะมีการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุก 1 ชั่วโมง
5. ศึกษาข้อมูลการเดินทางได้จากป้ายประชาสัมพันธ์ หรือ Bangkok MRT Application ซึ่งมีข้อมูลสำคัญครบถ้วนในการใช้บริการรถไฟฟ้า 6.ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ที่มีให้บริการภายในสถานี ณ จุดตรวจสัมภาระ และบริเวณห้องออกบัตรโดยสาร และ 7.ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ โดยปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เช่น การตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย
-ขสมก.เดินรถ100 % -ผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) บนรถโดยสารประจำทางเพื่อให้รถโดยสารสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้เพิ่มขึ้นเป็น 70 % โดยจะอนุญาตให้ผู้ใช้บริการที่เดินทางมาด้วยกัน หรือ เดินทางมาเป็นครอบครัว สามารถนั่งติดกันได้ บนเบาะที่นั่งที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป
สำหรับแผนงานที่ขสมก.ได้จัดสรรตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 อาทิ จัดรถออกวิ่ง 100 % หรือ 3,000 คัน/วัน หรือมีเที่ยววิ่งเฉลี่ย วันละประมาณ 25,000 เที่ยว และก่อนนำรถออกวิ่งจะต้องฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นและเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ พร้อมทั้งติดตั้ง ขวดเจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือ บริเวณประตูทางขึ้น
ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชันไทยชนะ บริเวณหลังเบาะที่นั่ง และบริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกนผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการรถโดยสารคันเดียว และเวลาเดียวกันกับผู้ใช้บริการ จะมีการแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ว่าผู้ใช้บริการมีความเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์
ส่วนผู้ใช้บริการนั้นต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ,นั่ง และยืนตามจุดที่กำหนด กรณีผู้ใช้บริการเต็มจะต้องรอใช้บริการรถโดยสารคันถัด,ควรสแกน QR Code แอปพลิเคชันไทยชนะ บนรถโดยสาร เพื่อเช็คอินเมื่อขึ้นรถ และเช็คเอาท์ ก่อนลงจากรถ