พระราชกรณียกิจ "ทางการแพทย์-สาธารณสุข" ของ ในหลวง ร.10

18 ก.ค. 2563 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2563 | 11:54 น.

เฉลิมพระเกียรติ "ในหลวง ร.10" พระราชกรณียกิจ ทางการแพทย์-งานด้านสาธารณสุข

เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 นี้ ร่วมเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่มีมากมายมานำเสนอ

 

งานด้านหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ งานด้านการแพทย์-สาธารณสุข ที่ทรงมีพระเมตตาห่วงใยราษฎรของพระองค์มาโดยตลอด ทรงให้การสนับสนุนทั้งโดยการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการต่างๆเพื่อส่งเสริมสุขภาพของเหล่าพสกนิกร นับตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงตระหนักว่า สุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคลอันมีคุณภาพไว้เป็นพลังในการพัฒนาประเทศ จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

 

-พระเมตตา “ในหลวง” 21 รพ.สมเด็จพระยุพราชดูแลประชาชน

 

เมื่อรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีมติเห็นสมควรอย่างยิ่งในการเทิดพระเกียรติพระองค์โดยการจัดสร้างโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดารเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทั่วทุกพื้นที่ ทั้งข้าราชการ พลเรือน รวมถึงผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลประจำจังหวัด น้อมเกล้าฯถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 21 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แบ่งออกเป็น

 

ภาคเหนือ 6 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย, รพ.สมเด็จพระยุพราชตะพานหิน จ.พิจิตร, รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน, รพ.สมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก, รพ.สมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์, รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จ.อุบลราชธานี, รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย, รพ.สมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น, รพ.สมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์, รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม, รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จ.สกลนคร, รพ.สมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร, รพ.สมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จ.อุดรธานี, รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย

 

ภาคตะวันออก 1 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว จ.สระแก้ว

 

ภาคกลาง 1 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี

 

ภาคใต้ 4 แห่ง ได้แก่ รพ.สมเด็จพระยุพราชฉวาง จ.นครศรีธรรมราช, รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี, รพ.สมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี และ รพ.สมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา

 

หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ นายธานินทร์ ได้ขอพระบรมราชานุญาตนำทรัพย์ส่วนพระองค์ที่เหลือ จัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ กว่า 40 ปีที่มีการก่อตั้งโรงพยาบาลทั้ง 21 แห่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงติดตามความก้าวหน้าของโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ พระองค์ทรงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสิ่งอำนวยความสะดวก และความเป็นอยู่ของผู้ป่วยมากกว่าการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เป็นโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ยกเว้นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้วและโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดมที่เป็นโรงพยาบาลทั่วไป)

 

พระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสแก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล มีความส่วนหนึ่งว่า “ทุกคนที่ทำงานให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจะต้องไม่ลืมว่า โรงพยาบาลแห่งนี้กำเนิดขึ้นมาจากความมุ่งปรารถนานำอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน”

 

นอกจากนี้ในปีพ.ศ. 2537 ทรงรับเป็น ประธานกรรมการอำนวยการจัดสร้างอาคารศูนย์โรคหัวใจ สมเด็จพระบรมราชินีนาศ พ.ศ. 2550 ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนที่หมู่บ้านสันติ 2 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา และพ.ศ. 2554 พระองค์ได้ทรงสนับสนุนโครงการตรวจสุขภาพภิกษุ สามเณร และผู้นำศาสนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

 

พระองค์ยังทรงเอาพระทัยใส่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง พระองค์ทรงมีต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทรงสนพระทัยการดำเนินงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่บำบัดรักษาและป้องกันโรคมะเร็ง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2527 พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมผู้ป่วยมะเร็งเป็นครั้งแรก ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และพระราชทานสิ่งของให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ยังความปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ป่วยมะเร็งเป็นอย่างยิ่ง ภายหลังการดำเนินงานของสถาบันมะเร็งได้ก้าวหน้ามาตามลำดับ มีการขยายหน่วยงานตามจังหวัดต่างๆ พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ด้วยพระองค์เองบ้าง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอเสด็จฯ แทนพระองค์เองบ้าง

 

ทรงมีพระราชดำรัส เนื่องในพิธีเปิดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งภาคพื้นแปซิฟิก ครั้งที่  11 ณ กรุงเทพฯ ใจความตอนหนึ่งว่า  “เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์อย่างยิ่ง และอัตราการป่วยด้วยโรคนี้ก็ยังไม่มีทีท่าจะลดลง ไม่ว่าในประเทศที่เจริญแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา จึงเป็นการแน่นอนว่า มะเร็งนั้น ไม่แต่จะเป็นโรคร้าย ทำลายชีวิตมนุษย์ หากยังเป็นตัวการทำลายความสุข ความเจริญ ทุกสิ่งของมนุษย์ชาติพร้อมกันไปด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศทั้งหลาย จะร่วมมือกันป้องกันและลดอัตราการป่วยด้วยโรคนี้ลงให้ได้”

 

-พระราชทานเงิน 2.4 พันล้านบาทแก่ 27 โรงพยาบาล

 

พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า อุปกรณ์การแพทย์ในสถานพยาบาลหลายแห่งยังขาดแคลนอย่างหนัก โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลใหญ่ๆที่มีประชาชนเข้ารับการรักษาจำนวนมาก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินส่วนที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อครั้งงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งหมด และรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” แก่ 27 สถานพยาบาล เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,407,144,487.59 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 พระองค์พระราชทานเงิน จำนวน 631 ล้านบาท ให้แก่ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลสงฆ์, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, โรงพยาบาลหัวหิน, โรงพยาบาลน่าน, โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร, โรงพยาบาล โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์, โรงพยาบาลศูนย์ยะลา, โรงพยาบาลศูนย์ปัตตานี, โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และโรงพยาบาลท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้น้อมรับและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า จะดำเนินตามพระบรมราโชบายอย่างเต็มที่ โดยนำเงินพระราชทานที่ได้ไปจัดสรรซื้อเครื่องมือ-อุปกรณ์การแพทย์ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา

 

-“ในหลวง” พระราชทานคำแนะนำรัฐบาลรับมือโควิด-19

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบายเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ความว่า

 

“มีอะไรที่จะมีส่วนช่วยเหลือ ที่จะแก้ปัญหาก็ยินดี เพราะว่า ก็เป็นปัญหาของชาติ ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี่ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ เรามีหน้าที่ที่จะดูแลแก้ไขให้ดีที่สุด อย่างที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเกิดมีความเข้าใจในปัญหา มีความเข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่ายอมรับตามบุญตามกรรม แต่มีความเข้าใจในสถานการณ์ มีความเข้าใจในปัญหา และก็มีความรู้เกี่ยวกับโรค ก็คือเข้าใจในปัญหานั่นเอง อันแรกก็เป็นอย่างนี้

 

อันที่ 2 ก็คือจากข้อที่ 1 ก็คือ การมีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีระบบในการปฏิบัติ แก้ไขให้ถูกจุด รู้ปัญหา แก้ไขให้ถูกจุดโดยมีการบริหารจัดการ แล้วก็ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง และเหตุผลที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการมีระบบ หรือแผนในการปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แก้ถูกจุด ก็จะลดปัญหาลงไป จะแก้ได้ในที่สุด

 

ก็เชื่อแน่ว่าจะต้องแก้ไขและก็เอาชนะอันนี้ได้ เพราะว่าประเทศของเรานี่ก็นับว่าทำได้ดี ประเทศของเรานี่น่าภูมิใจว่าทำได้ดี และก็ทุกคนก็ร่วมใจกัน ก็ดีกว่าที่อื่นอีกหลายที่ แต่บางทีก็ต้องเน้นเรื่องการทำงานมีระบบด้วยความเข้าใจ และการมีระเบียบวินัยในการแก้ไขปัญหา

 

โดยมีเป้าหมายว่า เราจะต้องต่อสู้ให้โรคนี้สงบลงไปได้ในที่สุด เพราะว่าโรคมาได้ โรคก็ไปได้ โรคจะไม่ไปถ้าเราไม่แก้ไขปัญหา เราไม่แก้ไขให้ถูกจุด หรือเราไม่มีความขันติอดทนที่จะแก้ไข บางทีก็ต้องสละในความสุขส่วนตัวบ้าง หรือเสียสละในการกล้าที่จะสร้างนิสัยหรือสร้างวินัยในตัวเอง ที่จะแก้ไขเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม อันนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้”

 

โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีรับสั่งทรงห่วงใยแพทย์พยาบาลว่า “...หมออาจจะเหนื่อยหน่อยช่วงนี้ ฝากเป็นกำลังใจให้หมอกับพยาบาลด้วยค่ะ...”

 

-พระราชทาน เครื่องช่วยหายใจ-เครื่องมือแพทย์ รับมือโควิด-19

 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องช่วยหายใจให้แก่ โรงพยาบาลตำรวจในเบื้องต้นจำนวน 3 เครื่อง คือ  Puritan Bennett 980 จำนวน 1 เครื่อง และ Puritan Bennett 840 จำนวน 2 เครื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิด-19

 

ต่อมาเมื่อวันที่  26 มีนาคม 2563 ทรงพระราชทานเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 3  เครื่อง และเครื่องวัดออกซิเจนแบบปลายนิ้ว จำนวน 13 เครื่อง ให้แก่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ และในวันที่ 27 มีนาคม 2563 พระราชทานเครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 980 จำนวน 1 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 840  จำนวน 3 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Draeger รุ่น Carina จำนวน 2  เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Maquet รุ่น SERVO-s จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จำนวน 13  เครื่อง

 

วันที่ 1 เม.ย. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องช่วยหายใจเพิ่มเติม ให้แก่ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ  เป็นเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 7 เครื่อง ซึ่งเดิมได้รับของพระราชทานในเบื้องต้น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องวัดออกซิเจนแบบปลายนิ้ว จำนวน 13 เครื่อง

 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett รุ่น 840 จำนวน 3 เครื่อง ให้แก่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

 

ในวันที่  3 เมษายน 2563 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้แก่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ Draeger จำนวน 3 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Puritan Bennett จำนวน 4 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Event จำนวน 4 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ Maquet จำนวน 1 เครื่อง รวม 12  เครื่อง และเครื่องวัดออกซิเจนแบบปลายนิ้ว จำนวน 13 เครื่อง

 

-รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย “น้ำพระราชหฤทัยพระราชา”

 

นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modlar Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งใน โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน ที่พัฒนาขึ้นโดย SCG เพื่อรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยโรงพยาบาล 20 แห่ง ที่ได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ (Modlar Swab Unit) ได้แก่

 

1.รพ.ภูมิพลอดุลยเดซ กรมแพทย์ทหารอากาศ 2.รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 3.สถาบันบำราศนราดูร 4.รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 5.สถาบันโรคทรวงอก 6.รพ.ตำรวจ 7.รพ.กลาง 8.รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ 9.รพ.นครปฐม 10.รพ.ราชบุรี

 

11.รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก 12.รพ.พหลพลพยุหเสนา 13.รพ.อุตรดิตถ์ 14.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ 15.รพ.นครพิงค์ 16.รพ.อุดรธานี 17.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 18.รพ.สุราษฎร์ธานี 19.รพ.สงขลานครินทร์ และ20. รพ.หาดใหญ่

 

สำหรับนวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อ (Modlar Swab Unit) ที่ได้รับพระราชทานในครั้งนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ลดความสิ้นเปลืองในการใช้ชุด PPE ให้กับบุคลาการทางแพทย์ผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี ช่วยปกป้องประชาชนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะห้องตรวจหาเชื้อดังกล่าว พัฒนาขึ้นโดยเทคโนโลยีทันสมัยของ SCG HEIM และ Living Solution ที่ออกแบบให้มีระบบควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศให้สะอาดปลอดภัย มีระบบป้องกันอากาศรั่วไหลที่ทำให้ห้องปิดสนิท ป้องกันอากาศเข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ภายในอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี จึงช่วยเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ขณะที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น

 

ทั้งยังพระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จำนวน 13 คัน เพื่อกระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ประโยชน์ ณ สำนักงานเขตสุขภาพ ที่ 1-12 ทั่วประเทศ และเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่กระทรวงสาธารณสุข ดูแลรับผิดชอบเพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019( โควิด-19) ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว เช่น โรงเรียน วัด ชุมชนแออัด และกลุ่มอาชีพเสี่ยงทั่วประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เชิงรุก เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี ทรงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน อันเป็นหน้าที่ที่ประชาชนชาวไทยทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติ  และล่าสุดจากกรณี “ทหารอียิปต์” ติดเชื้อโควิด-19 เข้าพักในโรงแรมที่จังหวัดระยองนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้นำรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยอันเป็นรถพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปตรวจบริการเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชนด้วย

 

ที่มา วิกิพีเดีย , หน่วยราชการในพระองค์