ผวา ตกงานพุ่ง ธปท.แก้โจทย์ จี้สร้างศก.ภูมิภาคดูดแรงงานคืนถิ่น

24 ก.ค. 2563 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2563 | 10:05 น.

ผู้ว่าธปท.ชี้ วิกฤติโควิด ฟาดหางไทยหนักสุดในอาเซียน เหตุซัพพลายหายทั่วโลก ยันสถานะภายในแข็งพอประคองตัวได้ แม้เลยจุดตํ่าสุดมาแล้ว แต่ยังฟื้นฟูยาว ห่วงว่างงานพุ่ง แนะปรับโครงสร้างใหญ่สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น ดูดซับแรงงานคืนถิ่น สร้างเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อความยั่งยืน

ในงานสัมนาวิชาการประจำของธนาคารแห่งประเทศ ไทย(ธปท.) ท่ามกลางกระแสการระบาดของโควิด-19 จึงเป็นครั้งแรกที่ต้องใช้การสัมนาแบบออนไลน์ ซึ่งนอกจากการกล่าวถึงเสวนาในหัวข้อ “ก้าวต่อไป ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัฒน์” ซึ่งนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. ระบุถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังไตรมาส 2 ปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในลักษณะเป็นเครื่องหมายถูก แต่หางยาว คือ ค่อยๆฟื้นตัวขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนหลายด้าน ที่ต้องช่วยกันระวังและจับตาดูแลคือ 1.เศรษฐกิจไทยจะลงลึกว่าเพื่อบ้านในอาเซียน เพราะไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด ต้องพึ่งตลาดโลกมาก และ 2.การส่งออกยังต้องอาศัยเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ที่อำนาจซื้อลดลงจากโควิด และ 3.การผลิตสมัยใหม่ยังเป็นห่วงโช่อุปทานข้ามชาติ 

ห่วง“ว่างงาน”

นอกจากนั้นนายวิรไท ยังได้แสดงความเป็นห่วงว่า เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะเผชิญกับปัญหาการว่างงานมากขึ้น เพราะโควิด-19 จะกระทบรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการและภาคการผลิต ที่มีคนตกงานโดยไม่ได้ตั้งตัวจำนวนมาก  แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลง แต่หลายคนจะยังไม่สามารถกลับสู่ตลาดแรงงานในโลกใหม่ที่ต่างไปจากเดิมได้ จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น กำลังการผลิตส่วนเกินสูงมากทั้งทั่วโลกจากผลโควิด-19 ที่ทำให้การผลิตเดินเครื่องไม่ได้ หรือมีสินค้า แต่ส่งไม่ได้ 

ขณะที่รูปแบบการผลิตภาตอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไป โดยจะหันไปใช้เทคโนโลยีใหม่ หรือหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น ส่วนภาคการท่องเที่ยวก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน จะไม่มีแบบของการเดินทางกรุ๊ปทัวร์หรือกลุ่มใหญ่ๆ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จากการที่หลายประเทศยังใช้มาตการจำกัดการเดินทาง เพราะยังไม่สามารถออกจากล็อกดาวน์ได้ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่พักงานไป บางส่วนจะไม่สามารถกลับสู่ตำแหน่งงานได้ ถ้าผ่านไป 2-4 ปี อายุแรงงานมากขึ้น ขณะที่ตลาดต้องการทักษะแรงงานแบบใหม่มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต่อยอด เราไม่ทิ้งกัน-เยียวยาเกษตรกร ฉีดเงินกู้ 4 แสนล้าน จ้างงานทั่วประเทศ

ครม.เคาะใช้ "พรก.เงินกู้" ล็อตแรก1.5หมื่นล้าน 4กระทรวง5โปรเจ็กต์

ครม.อนุมัติ 3 โครงการใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาท

เปิดบิ๊กโปรเจ็กต์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นักวิจัยด้านแรงงานประเมินว่า ปี 2563 นี้ประเทศไทยจะมีคนว่างงานประมาณ 3 ล้านคน จากเดิมก่อนโควิด-19 จะมีคนว่างงานที่ระดับ 1 แสนคนเศษ ขณะที่จะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละประมาณ 3-4 แสนคน ซึ่งนักศึกษาที่เพิ่งจบปีนี้คาดว่าจะหาตำแหน่งงานได้ยากมาก และหากว่างงานเกิน 2 ปี จะเกิดผลข้างเคียงระยะยาวต่อความสามารถในการหางานและศักยภาพแรงงาน
 

ชู“เศรษฐกิจท้องถิ่น”

นายวิรไทเสนอว่า แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดงานในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางกลับสู่ชนบท จากเดิมที่ภาคเกษตรไทย จะมีเพียงแรงงานสูงวัย อยู่ในภาวะอ่อนแอ ไม่สามารถปรับตัวรับกับทักษะและเทคโนโลยีใหม่ได้ทัน ทำให้ผลิตภาพภาคการเกษตรด้อยลงในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสสำหรับคนกลุ่มคนที่ตกงานจากเมืองสามารถนำประสบการณ์ไปต่อยอดสร้างงาน สร้างอาชีพในท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืนขึ้นมาได้ เช่น การยกระดับการผลิต-การแปรรูปให้ตรงความต้องการตลาด การใช้ออนไลน์ช่วยขายสินค้า 

“เรากำลังพูดถึงคนหลายล้านคน ถ้าเขาสามารถทำงานมีตำแหน่งงาน จะสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ระยะสั้นและระยะยาวของประเทศได้ ถือเป็นวาระแห่งชาติ (Agenda) ที่ต้องทำให้คนฝากชีวิตกับต่างจังหวัดได้ โดยไม่ต้องเข้ามาทำงานภาคอุตสาหกรรมในเมืองอีก”

ผู้ว่าธปท.ยํ้าอีกว่า โจทย์นี้เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ เป็นหน้าที่ของทุกคนทุกส่วนงาน ต้องช่วยกันใช้กลไกที่มีอยู่ในท้องถิ่นเข้ามาร่วมกัน เพราะแต่ละพื้นที่มีภูมิสังคมแตกต่างกัน คนมีความต้องการต่างกัน ระดับเศรษฐกิจต่างกัน ต้องระดมกำลังใช้กลไกทั้งระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับจังหวัด สถาบันการศึกษาในพื้นที่ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มองค์กรต่างๆ รวมถึงโครงสร้างที่รัฐลงทุนไว้ให้ เช่น อินเตอร์เนตหมู่บ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ ให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพที่ตอบโจทย์ของเศรษฐกิจโลกใหม่ที่ต้องการหลากหลายมิติ

ผวา ตกงานพุ่ง  ธปท.แก้โจทย์  จี้สร้างศก.ภูมิภาคดูดแรงงานคืนถิ่น

ไทยแกร่งแต่โลกทรุด

อย่างไรก็ตาม วิกฤติโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก จนฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่วิกฤตินั้น ต่างจากวิกฤติที่เกิดขึ้นใน 2540 ที่เกิดจากไทยและลามสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ระบบการเงินไม่เข้มแข็ง ทำให้เกิดสภาพสถาบันการเงินล้มจนฉุดภาคเศรษฐกิจจริง แต่เศรษฐกิจโลกไม่มีปัญหา เมื่อบาทอ่อนค่ารุนแรง แต่สินค้าเกษตรขายได้เพิ่ม เกษตรกรมีรายได้ดี แล้วจึงค่อยสร้างความเข้มแข็งระบบสถาบันการเงิน ส่วนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เกิดในสหรัฐฯและประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ กระทบไทยทำให้ส่งออกลดลง แต่ทางการจีนดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐจีนขยายตัวและดึงให้กลับมายืนได้

ครั้งนี้เป็นวิกฤติสาธารณสุขที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการผลิต ขณะที่ระบบการเงินไทยและโลกยังเข้มแข็ง จากบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา มีกลไกการกำกับดูแลสถาบันกรเงินที่เข้มแข็งมากขึ้น ขณะที่ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจมหภาคไทยก็แข็งแรง มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง การกู้ยืมต่างประเทศ ตํ่าแต่การระบาดของเชื้อโรคเบรกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การผลิตสินค้าหยุดชะงัก คนขาดรายได้ขาดกำลังซื้อ

“หากเทียบกับปี 2540 ภาคเศรษฐกิจจริงกระทบแรงไม่แพ้กัน แต่ในภาคการเงินภาคเศรษฐกิจมหภาคต่างกันมาก ถึงวันนี้สมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่มี 195 ประเทศได้ขอรับความช่วยเหลือแล้ว 102 ประเทศ แต่คราวนี้ไทยไม่ต้องพึ่งไอเอ็มเอฟ และการมีกันชนที่ดีทำให้ประเทศไทยจึงสามารถใช้นโยบายดอกเบี้ยตํ่าเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% มาใช้ เพื่อลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินให้สามารถไปดูแลลูกหนี้ได้”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563