6,000ปี มีครั้งเดียวพรุ่งนี้ห้ามพลาด "ดาวหางใกล้โลก"

22 ก.ค. 2563 | 05:59 น.

23 ก.ค.อย่าลืมชมปรากฏการณ์ ดาวหาง นีโอไวส์ (NEOWISE) ใกล้โลก ครั้งเดียวในรอบกว่า 6000 ปี

พรุ่งนี้ 23 ก.ค. คนไทยอย่าลืมชม ดาวหางใกล้โลก  ที่มีชื่อเรียกว่า ดาวหาง นีโอไวส์ (NEOWISE) อยู่ใกล้โลก ครั้งเดียวในรอบกว่า 6000 ปี ทั้งนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ National Astronomical Research Institute of Thailand (NARIT) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ว่าจะพบ ดาวหางใกล้โลก ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์และผู้คนบนโลก เนื่องจากปรากฏสว่างเหนือน่านฟ้าหลายประเทศ ต่างพากันติดตามและบันทึกภาพดาวหางดังกล่าวเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดาวหาง นีโอไวส์ (NEOWISE) ใกล้โลก ครั้งเดียวในรอบกว่า 6000 ปี

 

รู้จัก "ดาวหาง นีโอไวส์ (NEOWISE)" ก่อนโคจรใกล้โลกที่สุด 23 ก.ค.นี้

 

"ดาวหางนีโอไวส์" ดูอย่างไร -เวลาใด เห็นชัดสุด เช็กได้ที่นี่  

 

พรุ่งนี้ รอชมปรากฏการณ์ "ดาวเสาร์ใกล้โลก" ที่สุดในรอบปี

ปัจจุบัน ดาวหาง ดวงนี้ อยู่ใกล้กับบริเวณกลุ่มหมีใหญ่ (Ursa Major) หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของ “กลุ่มดาวจระเข้” เป็นกลุ่มของดาวฤกษ์ที่พบเห็นได้ง่ายทางด้านทิศเหนือ แม้ว่าขณะนี้ดาวหางได้ผ่านช่วงสว่างมากที่สุดไปแล้ว แต่จากการสังเกตการณ์จริงพบว่าความสว่างไม่ได้ลดลงดังเช่นที่คำนวณไว้ ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับสังเกตการณ์ดาวหาง เริ่มตั้งแต่ช่วงวันที่ 18 - 23 กรกฎาคม 2563 (เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควร) ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ดาวหาง จะปรากฏอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้า และคาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 5 แม้เป็นช่วงแสงสนธยาก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าบริเวณขอบฟ้าใสเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 21 กรกฎาคม เป็นคืนเดือนมืดไร้แสงจันทร์รบกวน เป็นโอกาสเหมาะที่จะเฝ้าสังเกตการณ์ ดาวหางนีโอไวส์ ด้วยตาเปล่า

ส่วนวันที่ 23 กรกฎาคม แม้เป็นช่วงที่ ดาวหางใกล้โลก ที่สุด แต่จากข้อมูลพบว่าดาวหางจะมีค่าค่าความสว่างจะลดลง รวมทั้งในคืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย หลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้

 

แนะเทคนิคและวิธีการที่นักล่าดาวหางควรรู้ในเบื้องต้น

สำหรับเทคนิคและทักษะสำคัญในการถ่ายภาพดาวหางนั้น นักล่าดาวหางจำเป็นต้องทราบข้อมูลเบื้องต้น เช่น ตำแหน่ง ทิศทางการเคลื่อนที่ ค่าความสว่าง และเทคนิคการถ่ายภาพและการเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม โดยมีเทคนิค 7 ข้อดังนี้

1. การติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์ ที่ได้จากการเฝ้าสังเกตการณ์ของนักดาราศาสตร์ ซึ่งจะมีหอดูดาวสังเกตการณ์ตลอดทั้งปีและคอยอัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับดาวหางที่อาจมีค่าความสว่างมากขึ้น จนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น https://theskylive.com ซึ่งมีข้อมูลดาวหางแบบ Real Time และค่าความสว่าง ตำแหน่งดาวหางล่วงหน้าอย่างละเอียด

2. การหาตำแหน่งดาวหางจากโปรแกรม Stellarium ในการใช้โปรแกรมบางครั้งจำเป็นต้องอัพเดทโปรแกรมเวอร์ชั่นล่าสุด และสามารถดาวน์โหลดข้อมูลดาวหางลงไว้ในโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ของเรา เพื่อตรวจสอบตำแหน่งดาวหางในแต่ละวันได้ ดังรายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2CcgdPi

3. การวางแผนถ่ายภาพดาวหางในแต่ละวัน โดยสามารถใช้โปรแกรม Stellarium ในการแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง รวมทั้งการคาดการณ์ค่าความสว่างของดาวหางในแต่ละช่วงได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามนอกจากค่าความสว่างของดาวหางแล้ว เราจำเป็นต้องตรวจสอบดวงจันทร์ที่อาจจะทำให้มีแสงรบกวนได้ โดยสามารถศึกษารายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2ZOjqwW

4. อุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพดาวหางสว่าง (ย้ำว่าเป็นดาวหางสว่างนะครับ) สำหรับอุปกรณ์ในการถ่ายภาพดาวหางสว่างนั้น มีเพียง A.กล้องดิจิตอล B.ขาตั้งกล้องที่มั่นคง C.เลนส์ไวแสง แต่สำหรับดาวหางนีโอไวส์ครั้งนี้ ผมแนะนำเลนส์ที่ช่วงทางยาวโฟกัส 24-70 mm. หรือ 70 – 200 mm. เนื่องจากขนาดปรากฏของดาวหางมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก

5. การหามุมรับภาพ เพื่อให้เราสามารถวางแผนเลือกใช้เลนส์และอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการถ่ายภาพดาวหาง โดยสามารถใช้โปรแกรม Stellarium ในการหามุมรับภาพ ตามลิงก์ : https://bit.ly/2WydE1o แต่สำหรับใครอยากได้แบบใหญ่ๆ ถ่ายเฉพาะตัวดาวหางก็สามารถใช้ทางยาวโฟกัสสูง แต่จำเป็นต้องถ่ายบนฐานตามดาวด้วย

6. การตั้งค่าถ่ายภาพดาวหาง

เริ่มจากการใช้ค่ารูรับแสงกว้าง เช่น f/2.8 เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุด

คำนวณค่าความเร็วชัตเตอร์จากสูตร 400/600 ให้สัมพันธ์กับช่วงทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่เราเลือกใช้ รายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2Cpsdxw

ตั้งค่าความไวแสง ISO โดยอาจเริ่มจาก ISO 800 ขึ้นไป และปรับเพิ่มขึ้นตามสภาพแสงของท้องฟ้า

7. การมองหาดาวหางด้วยตาเปล่า ในระหว่างวันที่ 18-23 กรกฎาคม 2563 นี้ สามารถเริ่มต้นมองหาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป และใช้การถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างประกอบการค้นหา เนื่องจากกล้องถ่ายภาพสามารถรวมแสงวัตถุจางๆ ได้ดีกว่าตาเปล่า แล้วเช็คดูภาพที่หลังกล้อง หรืออาจใช้กล้องสองตาในการค้นหาด้วยเช่นกัน

 

ที่มา:เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ