กรมประชาสัมพันธ์ เผย10 อาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการมากที่สุด และแนวโน้มสำหรับการทำงานในยุค "หลังโควิด -19 " โดยข้อมูลดังกล่าวมาจาก 3 เว็บไซต์จัดหางานที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย ได้แก่ CobsDB, Jobbkk, Jobtha ที่ได้รวบรวมและคาดการณ์ว่าหลังสถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทยคลี่คลาย กลุ่มอาชีพที่มีตำแหน่งงานว่างและต้องการแรงงานมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
1. อาชีพด้านงานขาย เช่น พนักงานขายหน้าร้าน, พนักงานขายออนไลน์, เจ้าหน้าที่ให้บริการด้านข้อมูลสินค้า,งานขายประกัน และ พนักงานขายทางโทรศัพท์
2. ขนส่งและคลังสินค้า เช่น เจ้าหน้าที่จัดเรียงคลังสินค้า, เจ้าหน้าที่จัดส่งสินค้า, เจ้าหน้าที่จัดการสต๊อก โดยอาชีพนี้เลือกเข้างานป็นกะได้ และความต้องการอาชีพนี้อยู่ทุกพื้นที่
.
3. อาชีพด้านไอที ซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลาย เช่น โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ Web Developer และผู้ดูแลระบบ
4. วิศวกร เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการสูง รองรับการลงทุนของบริษัทต่างประเทศที่มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต การจัดการโรงงาน การดูแลมาตรฐานของโรงงาน รวมถึงการดูแลระบบเครื่องจักร เครื่องกล เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูง
5. ช่างเทคนิค เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ มีส่วนสำคัญในแรงงานการผลิต ทั้งโรงงาน ออฟฟิศ และหน่วยการผลิต มีความต้องการผู้ที่จบการศึกษาสายอาชีวะจำนวนมาก
6.เจ้าหน้าที่บัญชี เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะด้านในการจัดการ เพื่อรองรับการยื่นภาษีของบริษัท ปิดสรุปงบ เพื่อให้องค์กรนำตัวเลขนี้ไปพัฒนาธุรกิจต่อไป
7.เจ้าหน้าที่การเงิน ดูแลเรื่องการวางบิล ซื้อขาย ทวงหนี้ วางแผนการชำระหนี้ จัดการหนี้สินของบริษัท ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
8.เจ้าหน้าที่ธุรการและงานจัดซื้อ ที่คอยดูแลเรื่องการประสานงาน งานเอกสารขององค์กร ยังมีความต้องการอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
9. อาชีพบริการลูกค้า/งานต้อนรับ แม้ว่าเทรนด์ธุรกิจจะเปลี่ยนไป แต่องค์กรก็ยังจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลกับลูกค้าหรือผู้บริโภค เกี่ยวกับบริการหลังการขาย รวมถึงงาน Call Center
10. อาชีพการตลาดและประชาสัมพันธ์ ผู้ช่วยคิดแผนโปรโมชัน ทำงานร่วมกับทีมขายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ช่องทางโฆษณาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการผู้บริโภค
แม้ 10 อาชีพข้างต้นจะมีความต้องการในตลาดแรงานในปัจจุบัน แต่ในภาพรวมตัวเลขผู้ว่างงานและการเลิกจ้าง ยังอยู่ในอัตราที่น่ากังวล จากการสำรวจของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือน พ.ค.63 พบว่ามีตัวเลขการจ้างานในประเทศไทย 11,391,965 คน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (พ.ศ.2562) 148,980 คน หรือเฉลี่ยการจ้างงานลดลง 1.29% ต่อปี
ขณะที่หลายธุรกิจต้องมีการปรับตัว โดย รศ.ดร.สมขาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 ดังนี้ ธุรกิจที่เติบโตขึ้น ได้แก่
1. ธุรกิจไอทีต่างๆ เช่น การทำเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน บล็อกเชน (เครือข่ายการเก็บข้อมูล) เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจต่างๆ หันมาใช้บริการไอทีเหล่านี้มากขึ้นและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ
2. ธุรกิจจัดส่งสินค้าและอาหาร เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้คนต้องอยู่กับบ้านทำให้มีการสั่งอาหารและสินค้าออนไลน์มากขึ้น และกลายเป็นวิถีชีวิตที่ผู้คนคุ้นชิน ส่งผลให้ธุรกิจจัดส่งสินค้าและอาหารมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว
3.ธุรกิจที่เกิดใหม่ ได้แก่ คอร์สออนไลน์ต่างๆ เนื่องจากช่วงวิกฤตโควิด-19 คนหันมาสนใจศึกษาสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร งานศิลปะ การร้องเพลง การออกกำลังกาย หรือการเรียนออนไลน์เพื่อประกอบอาชีพต่างๆ ทำให้มีธุรกิจคอร์สสอนออนไลน์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย
ส่วนธุรกิจที่ต้องปรับตัว ได้แก่
1. การขายสินค้าต่างๆ และธุรกิจค้าปลีก ต้องเพิ่มบริการขายผ่านระบบออนไลน์ ต้องนำระบบไอทีเข้ามาใช้ เนื่องจกวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น
2.ห่วงโซ่การผลิต การจัดหาวัตถุดิบเพื่อเข้าสู่กระบวนการผสิตจะเปลี่ยนไป เนื่องจากทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญต่อการผลิตและสั่งซื้อวัตถุดิบและสินค้าภายในประเทศมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาการขนส่งอันเนื่องมาจากผลกระทบของวิกฤตการณ์ต่างๆ นอกจากนั้น อุตสาหกรรมบางอย่างจะมีการย้ายฐานการผลิตกลับมาประเทศไทยด้วย
3. การลงทุนในธุรกิจการเงิน จะกระจายไปในกลุ่มธุรกิจต่างๆ มากขึ้น โดยนักลงทุนจะกระจายความเสี่ยงเลือกลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย มากกว่าจะลงทุนในกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพียงอย่างเดียว
4. ธนาคารและสถาบันการเงินจะลดจำนวนสาขาและปรับลดพนักงานเร็วกว่าแผนที่วางไว้ เนื่องจากโควิด-19 ทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการ E-Banking กันมากขึ้น
ส่วนธุรกิจที่หายไปหรือลดจำนวนสาขาลง ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม สปา โรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในรายที่เงินทุนหรือสายป่านไม่ยาวพอก็ต้องปิดกิจการลง