จากกรณี วานนี้ (19 สิงหาคม 2563 ) กระทรวงสาธารณสุข แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิดล่าสุด โดยรายที่ 1 เป็นผู้ป่วยยืนยันรายเดิม ตรวจเจอซากเชื้อระหว่างเข้ารับการตรวจสุขภาพ ไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค รายที่ 2 เพศหญิงอายุ เพิ่งรับตัวเข้ามา รอผลตรวจยืนยัน ว่าเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ หรือเป็นการแพร่เชื้อภายในประเทศ ล่าสุด ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของเพจดังหมอแล็บแพนด้า โพสต์ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวข้องกับคำว่า "ซากเชื้อ" คืออะไร เพื่อไขข้อข้องใจดังนี้
หลายคนสงสัยว่า ตรวจเจอ “ซากเชื้อ” ที่ทางภาครัฐแถลงคืออะไร
ซากเชื้อก็เหมือนซากอ้อยที่เราเคี้ยวแล้วคายทิ้ง เอามาตรวจทางห้องแล็บยังไงก็รู้ว่าเป็นซากอ้อยซึ่งมันเคยเป็นอ้อยมาก่อน แต่จะเอาซากนั้นไปปลูกหรือขยายพันธุ์เพิ่มก็คงไม่ได้
ซากเชื้อโควิดก็เหมือนกัน ตรวจในห้องแล็บก็รู้ว่าเป็นเชื้อก่อโรคโควิด เพราะเราตรวจเจอชิ้นส่วนดีเอ็นเอของมันแต่มันก่อโรคไม่ได้แล้ว เพราะเหลือแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของร่างกาย มันไม่มีชีวิตแล้ว แต่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เราก็เลยสามารถตรวจเจอซากของมันได้นั่นเอง
ก่อนจะเป็นซาก มันเคยติดเชื้อในคนนั้นๆมาก่อนครับ แต่ร่างกายกำจัดหมดแล้ว คือหายแล้วนั่นแหละ ก็เลยเหลือแต่ซากไวรัสที่คงค้างอยู่ สักพักก็หมดไปจนตรวจไม่เจอ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขณะ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า COVID-19 การพบเชื้อในผู้ที่พ้นการกักกันโรคแล้ว 14 วัน มีความเป็นไปได้ดังนี้
1.ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะเป็น 2-7 วัน อาจพบได้ถึง 14 วัน และอาจจะเป็นไปได้น้อยมากถึง 21 วัน ดังนั้น ในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรคและ 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกัน การกระจายโรค
2.การตรวจพบเชื้อหลังจาก 14 วันไปแล้ว ก็เป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วง 14 วัน ที่อยู่ในสถานที่กักกัน เช่น ในเรือสำราญ ดังนั้นในสถานที่กักกัน จึงเคร่งครัด ไม่ให้มีการพบปะกัน ระหว่างผู้ที่กักกันด้วยกัน หรือบุคคลภายนอก
3.ผู้ป่วยนั้นมาติดเชื้อในประเทศไทย โอกาสนี้เป็นไปได้น้อยมาก ขณะนี้ไม่พบการติดต่อเกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 80 วันแล้ว
4.มีความเป็นไปได้ที่ผู้นั้นติดเชื้อมาจากต่างประเทศ หรือป่วยอยู่ต่างประเทศแล้ว และเมื่อมาถึงเมืองไทย เชื้อมีปริมาณน้อย ในบางช่วงก็ตรวจไม่พบ และต่อมา หรือบางช่วง ก็ตรวจพบ อย่างเช่นการระบาดในรอบแรกของไทย ไทยได้ทำการศึกษาร่วมกับสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม. พบว่า ก่อนกลับจากโรงพยาบาลตรวจไม่พบเชื้อแล้ว หลังจากนั้นติดตามก็ยังมีการพบเชื้อ แต่เชื้อมีปริมาณน้อยมาก
ในการติดตามระยะยาวที่ทำการศึกษา จำนวน 212 คน พบว่าในช่วง 4-12 สัปดาห์ หลังจากที่มีอาการ และผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว ก็ยังตรวจพบเชื้อได้ประมาณร้อยละ 6.6 ของผู้ป่วย
“เราพบไวรัสได้หลังมีอาการ 36– 105 วัน แต่ปริมาณไวรัสที่พบน้อยมาก ดังนั้น การพบเชื้อดังกล่าว ผู้ป่วยไม่มีอาการ รวมทั้งการตรวจปริมาณไวรัส ถ้ามีเป็นจำนวนน้อย โอกาสที่จะแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นก็น้อยมากๆ ดังข้อมูลในการระบาดรอบแรก ที่ได้ทำการศึกษา แม้จะตรวจพบเชื้อก็ไม่พบว่าแพร่กระจายไปสู่ผู้ใดเลย”