นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดทำประกาศ สปสช. เรื่อง เกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2563 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหน่วยบริการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือมาตรฐานของหน่วยงานที่กำกับดูแลก็ถือว่าผ่านเกณฑ์นี้แล้ว สปสช.จึงขอเชิญชวนคลินิก/โรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ กทม. สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในส่วนของคลินิก/โรงพยาบาลเอกชน ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. นั้น จะต้องมีสถานที่และเวลาให้บริการ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่สะดวกต่อการเดินทางเข้ารับบริการ เปิดให้บริการทุกวัน รวมเวลาไม่น้อยกว่า 56 ชม./สัปดาห์ และให้บริการแก่ผู้มีสิทธิ ไม่เกิน 10,000 คน/หน่วยบริการ มีบุคลากรประกอบด้วยแพทย์หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 2-4 คน และบุคลากรด้านสาธารณสุข 6 คน และ ในกรณีที่จัดบริการทันตกรรม บริการเภสัชกรรม และบริการกายภาพบำบัด ให้มีทันตแพทย์ เภสัชกร และนักกายภาพบำบัด อย่างน้อยวิชาชีพละ 1 คน ต่อ ผู้มีสิทธิไม่เกิน 30,000 คน หรืออาจจัดให้มีแพทย์แผนไทยและหรือบุคลากรวิชาชีพอื่นๆ ที่จำเป็นต่อผู้มีสิทธิในพื้นที่
ทั้งนี้ หน่วยบริการปฐมภูมิต้องมีศักยภาพในการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริการตรวจวินิจฉัยโรค รักษาพยาบาล ตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัวได้อย่างเป็นองค์รวมและเชื่อมโยงกับเครือข่ายหน่วยบริการเพื่อการส่งต่อ มีระบบการติดต่อสื่อสาร ที่สามารถขอรับคำปรึกษาจากหน่วยบริการประจำและหรือหน่วยบริการที่รับการส่งต่อได้อย่างรวดเร็ว มีระบบข้อมูลและสารสนเทศ เชื่อมโยงภายในเครือข่ายหน่วยบริการและ สปสช. อุปกรณ์ เครื่องมือ ยาและเวชภัณฑ์ ที่จำเป็นในการให้บริการอย่างพอเพียงเหมาะสมกับการจัดบริการแต่ละด้านตามรายการที่กำหนดในกฎกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และ/หรือตามที่สำนักงานกำหนด
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากเปิดให้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิแล้ว หน่วยบริการที่เปิดทำการทั้งในเวลาราชการ หรือนอกเวลาราชการ แต่ไม่เต็มเวลาตามเกณฑ์ 56 ชม./สัปดาห์ ก็สามารถเข้าร่วมสมัครเป็นหน่วยบริการร่วมได้เช่นกัน อาทิ คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาล คลินิกกายภาพบำบัด และร้านขายยา ขย.1 ทั้งนี้เพื่อร่วมจัดบริการระดับปฐมภูมิเฉพาะด้าน โดยเป็นสถานบริการที่ได้มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลหรือมาตรฐานของหน่วยงานที่กำกับดูแล
"จะเห็นได้ว่าคลินิกที่ผ่านเกณฑ์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือมาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ก็แทบจะผ่านเกณฑ์หมดแล้ว เพียงแต่ สปสช.อาจมีบางรายการที่อยากให้ท่านจัดบริการเพิ่ม เช่น การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพิ่มเติมให้ประชาชน คลินิกขนาดเล็กหากจัดบริการได้ไม่ครบถ้วนเพียงพอที่จะเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ก็ยังมีทางเลือกให้สมัครเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการในเครือข่ายหน่วยบริการได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคลินิกเดิมที่ถูกยกเลิกสัญญาจะยังไม่สามารถสมัครได้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 1 ปีหรือจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น แต่ในกรณีที่มีผู้ซื้อคลินิกมาจากเจ้าของเดิมที่ถูกยกเลิกสัญญา หากผู้ดำเนินการและผู้ประกอบการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันก็สามารถสมัครเข้าร่วมได้เช่นกัน" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ทั้งนี้ การสมัครเข้าร่วมไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่มีค่าธรรมเนียมการสมัคร โดย สปสช.เริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2563 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้ามาสมัครด้วยตนเองที่ สปสช.เขต 13 กทม. หรือทางเว็บไซต์ www.nhso.go.th และ https://bkk.nhso.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลข 063-210-5022 หรือ Line @UCBKK
โดยตั้งเป้ามีคลินิก/โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายไม่น้อยกว่า 500 แห่ง โดยคณะทำงานได้มอบให้ สปสช.อำนวยความสะดวกลงทะเบียนหน่วยบริการประจำให้ประชาชนก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อ สปสช.ลงทะเบียนแล้ว หากประชาชนรู้สึกไม่สะดวกที่จะไปรับบริการในภายหลังหรือประสงค์ที่จะเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ก็สามารถลงทะเบียนย้ายหน่วยบริการประจำได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 เป็นต้นไป