ลักษณะอากาศทั่วไป พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันนี้ (28 ตุลาคม 2563) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน (พายุระดับ 3) ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเป็นบริเวณกว้างและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ส่งผลทำให้ภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและลมแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
จากกราฟิกแผนที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย วันที่ 28 ตุลาคม 2563 มีพื้นเสี่งภัยฝนตกหนักมาก ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พยากรณ์อากาศ" 28-29 ต.ค. ไทยตอนบนมีฝนตกหนัก
เตือน 28-30 ต.ค. รับมือ “พายุลูกใหม่”
เกาะติด “พายุ” ลูกใหม่ ก่อตัว ทะเลจีนใต้ 1 พ.ย.
เปิดไทม์ไลน์ เส้นทางพายุ “โมลาเบ”
ด้าน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 57 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2563
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาพอากาศ และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่กับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุไต้ฝุ่น “โมลาเบ” (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้บางพื้นที่มีฝนตกหนักและมีลมแรง
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 57 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2563 แบ่งเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ประกอบด้วย
ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลางและภาคตะวันออก 25 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล