"หมอธีระ" เผยเคส "โควิดเชียงใหม่" สอนอะไรไทยบ้าง

29 พ.ย. 2563 | 01:44 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2563 | 08:52 น.

"หมอธีระ"ยกเคส "โควิดเชียงใหม่" สอนให้เรียนรู้หลายข้อ พร้อมย้ำไทยต้องขยายระบบตรวจคัดกรองโรคให้เข้าถึงได้ง่าย -ทุกพื้นที่ ควรทำเป็นกิจวัตร มิใช่การทำตามเป็นช่วงๆ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภาพรวมของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 รวมไปถึงการตรวจพบหญิงไทยติดเชื้อโควิดเชียงใหม่ ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat  โดยเนื้อหาใจความตอนหนึ่งได้กล่าวว่า สำหรับเมืองไทย เคสล่าสุดที่ภาคเหนือนั้นสอนให้เราเรียนรู้หลายเรื่อง


หนึ่ง ระบบการคัดกรองกักตัว 14 วันนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง 


สอง การลักลอบเข้าออกตามชายแดนนั้นเป็นสิ่งที่ยังเกิดขึ้นอยู่อย่างจริงแท้แน่นอน นี่จึงเป็นตัวย้ำเตือนว่ามีความเสี่ยงที่ประชาชนในประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยไม่ทราบว่าใครลักลอบเข้ามา มากน้อยเพียงใด


สาม การไม่ป้องกันตัว ป่วยแต่ยังใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทำงาน เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ล้วนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้

 

สี่ เคสนี้รู้ได้เพราะเค้ามาตรวจ หากไม่มาตรวจก็ไม่มีทางรู้ นี่จึงบ่งถึงจุดอ่อนของระบบที่ยังไม่สามารถตรวจพบก่อนที่จะเกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อแก่คนในสังคม 


ยิ่งหากเป็นคนที่เบี้ยน้อยหอยน้อย ไม่สามารถไปรพ.ได้เพราะมีค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้น ยิ่งไม่มีทางได้ตรวจ  หากไม่ตรวจก็ย่อมไม่มีทางเจอ หากตรวจน้อยก็เจอน้อย หากตรวจมากย่อมมีโอกาสเจอมาก


ประเทศไทยมีรายงานเคสติดเชื้อในประเทศก่อนหน้านี้ มีปรากฏการณ์ผุดเป็นดอกเห็ด หาต้นตอไม่ได้ ดังนั้นการขยายระบบตรวจคัดกรองโรคให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทั่วถึงทุกพื้นที่ ไม่ติดข้อจำกัดเรื่องต้องมีอาการ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และควรทำแบบเป็นกิจวัตร มิใช่การทำตามเป็นช่วงๆ 
 

นอกจากนี้การสื่อสารสาธารณะเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อนั้น ควรทำอย่างชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ บอกรายละเอียดอย่างครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญ และประเมินความเสี่ยงของตนได้


"...กาลครั้งหนึ่ง รถโดยสารคันหนึ่ง สถานที่แห่งหนึ่ง ห้างแห่งหนึ่ง โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คอนโดแห่งหนึ่ง..." ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อผู้รับฟัง
"นัดแถลงเรื่องเคสนี้ แต่เล่าเรื่องอื่นในอดีตมากมายก่อนจะพูดเรื่องเคสนี้" จัดเป็นการสื่อสารที่ทำให้ประชาชนสับสน เสียความรู้สึก เสียสมาธิในการรับฟังเรื่องที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันและ "การถามอย่าง แต่ตอบไปอีกอย่าง"นั้นไม่ควรเกิดขึ้น


สำคัญที่สุดคือ หากทำบ่อยๆ อาจทำให้สูญเสียศรัทธา ความเชื่อใจมั่นใจ และจะนำไปสู่การเหนื่อยหน่าย ไม่ร่วมมือร่วมใจในการกระทำการใดๆ ในอนาคต


สถานการณ์ปัจจุบัน ขอให้เราทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ เที่ยวอย่างระมัดระวัง ป้องกันตัวเสมอ ด้วยรักต่อทุกคน
 

ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลก 29 พฤศจิกายน 2563... เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 626,104 คน รวมแล้วตอนนี้ 62,521,740 คน ตายเพิ่มอีก 10,208 คน ยอดตายรวม 1,457,212 คน 


อเมริกา ติดเพิ่ม 165,116 คน รวม 13,588,642 คน ตายเพิ่มถึง 1,383 คน ยอดตายรวม 272,154 คน 


อินเดีย ติดเพิ่ม 41,506 คน รวม 9,390,791 คน


บราซิล ติดเพิ่ม 51,922 คน รวม 6,290,272 คน 


รัสเซีย ติดเพิ่มอีกถึง 27,100 คน รวม 2,242,633 คน


ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 12,580 คน รวม 2,208,699 คน 


อันดับ 6-10 ตอนนี้เป็น สเปน สหราชอาณาจักร อิตาลี อาร์เจนตินา และโคลอมเบีย ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน
เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน ตุรกี บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เมียนมาร์ และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น


หลายต่อหลายประเทศในยุโรป ก็ยังติดกันหลักร้อยถึงหลักพัน แถบประเทศสแกนดิเนเวียนสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง 
เกาหลีใต้ติดกันเพิ่มหลายร้อยอย่างต่อเนื่อง ส่วนออสเตรเลีย และฮ่องกง ติดเพิ่มหลักสิบจนถึงเฉียดร้อย ในขณะที่จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และนิวซีแลนด์ ยังมีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 1,344 คน ตายเพิ่มอีก 22 คน ตอนนี้ยอดรวม 87,977 คน ตายไป 1,887 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%
ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ต่างกำลังสู้กับการระบาดซ้ำระลอกที่สาม ซึ่งยังไม่สามารถคุมได้


จากที่วิเคราะห์การระบาดซ้ำใน 34 ประเทศทั่วโลก แทบทั้งหมดจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดต่อวันสูงกว่าระลอกแรก 4-11 เท่า และใช้เวลาคุมนานกว่าเดิม 1.5 เท่า


เกาหลีใต้นั้น เดิมจัดเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่การระบาดซ้ำระลอกสองมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดต่อวันน้อยกว่าระลอกแรก (ที่เหลือคือ นิวซีแลนด์ และไอร์แลนด์) แต่ปรากฏว่าขณะนี้ระลอกสามนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดต่อวันมากกว่าระลอกที่สองแล้ว คงต้องติดตามต่อไปว่าจะเขยิบสูงกว่าระลอกแรกหรือไม่


ณ ปัจจุบัน จำนวนการเสียชีวิตรายวันสูงกว่าเมษายนอย่างมาก เฉลี่ยช่วงนี้ตายวันละเกินหมื่นคนต่อวัน แต่เมษายนตายราวเกือบเจ็ดพันคนต่อวัน เทียบแล้วสูงขึ้นถึง 46.6% ทั้งๆ ที่ความรู้ทางการแพทย์ในการดูแลรักษาโรคมากขึ้น แต่การตายเยอะขึ้นเช่นนี้ น่าจะเป็นผลจากการที่ระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศที่ระบาดหนักไม่สามารถรองรับได้ไหว