หน่วยงานท่องเที่ยว พลิกกลยุทธ์เจาะช่องดึงดูดคนเดินทาง หวังฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ช่วงฟื้นฟูหลังโควิด-19 ในปี 2564 อีสานยกชั้น“เที่ยวพรีเมียม” จับคู่แลกคนข้ามภาค จัดแคมเปญรายไตรมาส 3 จังหวัดใต้ชู “โรงแรมส่งเสริมสุขภาพ”บูมอันดามัน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่า การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายการท่องเที่ยว Amazing อีสาน ไตรมาส 1 ตอน “ทะเลบัวแดง กับ ทะเลใต้” ที่จังหวัดอุดรธานี เป็นโอกาสดีที่ได้นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากต่างภูมิภาค ให้มีโอกาสได้พบปะกัน เพื่อร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมการขายการท่องเที่ยวของแต่ละภูมิภาค ให้เกิดความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิค-19 ได้คลี่คลายลง
ขณะนี้ไทยไม่สามารถพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้ เพราะยังมีการระบาดของโควิค-19 หลายภูมิภาค ทั้งในสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป หรือเอเซีย โดยประเทศต่างๆ ยังไม่เปิดประเทศให้มีการเดินทางเข้าออกของนักธุรกิจนักท่องเที่ยว จึงเป็นช่วงที่ไทยต้องช่วยกัน ตามแคมเปญของททท.ที่ออกมาว่า “ออกไปช่วยเมืองไทย ออกไปเที่ยวเมืองไทย” ทำอย่างไรให้คนไทยออกมาเที่ยวให้มากที่สุด เป็นการเที่ยวข้ามภาค กระจายตัวของนักท่องเที่ยว ปลดล็อกข้อจำกัด หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ทั้งการจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก โดยต้องเพิ่มจำนวนการเดินทาง จำนวนพักค้างให้มากที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธุรกิจ“โรงแรมไทย”ต้องปรับกลยุทธ์รับ “ไทยเที่ยวไทย”
ท่องเที่ยวปี64 ททท.ดันรายได้ต่างชาติเที่ยวไทย ติดTop5 โลก
ท่องเที่ยวไทย หากยังฟื้น เป็นรูปตัว K ปีหน้าธุรกิจ 50% ปิดตาย
นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการ ททท. ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า แผนการท่องเที่ยวของอีสานในปี 2564 มีธีม (Theme) ว่า เที่ยวอีสานทะเลหมอกหน้าหนาว & อีสานเที่ยววิถีใหม่สไตล์เมืองนอก โดยททท.ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคและข้ามภาค การแลกเปลี่ยนการทำตลาด (Market Exchange) ร่วมกัน
ส่วนทิศทางส่งเสริมการท่องเที่ยวอีสานเป็นพิเศษในปี 2564 ททท.ภาคอีสานสนับสนุน “ไทยเที่ยวไทย ...อีสานเที่ยววิถีใหม่ สไตล์เมืองนอก” เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพชาวไทยที่นิยมเที่ยวเมืองนอก ให้หันมาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวไทยในสไตล์เมืองนอกในภาคอีสานแบบพรีเมี่ยม โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ซึ่งมีสมาชิกและฐานข้อมูลนักท่องเที่ยวไทยนิยมเที่ยวเมืองนอก จับมือกับสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน (สอทอ.) ซึ่งมีสมาชิกผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว 20 จังหวัดภาคอีสานรวมตัวกันจาก DMC (Destination Management Company)
นอกจากนี้กำหนดให้ ททท.ภาคอีสานหลายแห่ง ทำงานจับคู่ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเจาะลึกในพื้นที่ตลอดทั้งปี 2564 กับสมาคมต่างๆ ดังนี้ 1. ททท.สำนักงานนครราชสีมา ร่วมกับสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) 2. ททท.สำนักงานอุบลราชธานี ร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) 3. ททท.สำนักงานขอนแก่นร่วมกับสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOPTA)
4. ททท.สำนักงานเลยร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) 5. ททท.สำนักงานนครพนมร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย(สนท) 6. ททท.สำนักงานอุดรธานีร่วมกับสมาคมไทยไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) 7. ททท.สำนักงานสุรินทร์ และ 8. บุรีรัมย์ ร่วมกับสมาคมการค้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีสาน
(สอทอ.)
นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การจัดกิจกรรมการส่งเสริมการขายท่องเที่ยวอีสานไตรมาส 1 ตอน “ทะเลบัวแดง กับทะเลใต้”@ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง ททท.ภาคอีสาน กำหนดจัดกิจกรรมในลักษณะนี้จำนวน 4 ครั้ง 4 ไตรมาส ในพื้นที่ต่างๆ ของภาคอีสาน และให้มีการเชื่อมโยงการขายกับภูมิภาคอื่นๆ โดยครั้งแรกเน้นการเชื่อมโยงการส่งเสริมเป็นพิเศษระหว่างภาคอีสานกับภาคใต้ ซึ่งตรงกับฤดูกาลท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวเป้าหมายที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูง กระตุ้นให้เกิดการเดินทางใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศ ในช่วงที่ยังไม่สามารถไปต่างประเทศได้
ที่จังหวัดภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กฎบัตรสุขภาพ จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรมใน 3 จังหวัดกลุ่มอันดามัน (ภูเก็ต พังงา กระบี่) เปิดแผนพื้นฟูเศรษฐกิจอันดามันด้วยธุรกิจส่งเสริมสุขภาพ พร้อมเริ่มทันทีเมษายน 2564 นี้ โดย รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 1 โครงการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ จัดโดย ศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มีโรงแรมในพื้นที่ 3 จังหวัดอันดามัน ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 120 แห่ง
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสมรรถนะด้านการส่งเสริมสุขภาพ หรือ wellness แก่กลุ่มธุรกิจโรงแรม เพิ่มการจ้างงานฝีมือระดับสูง เพิ่มปริมาณกิจการและหน่วยการส่งเสริมสุขภาพ ให้มีมากพอในการเป็นศูนย์กลาง wellness ของเอเชีย ในปี 2575 และเพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อ.ว.)
นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติและกฎบัตรสุขภาพ กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาขึ้นมาตามเป้าหมายการนำงานวิจัยและนวัตกรรมการปฏิบัติ ของโครงการเขตเศรษฐกิจสุขภาพวิถีใหม่ สำนักงานสภาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยในเดือนมกราคม 2564 คณะนักวิจัยกฎบัตรแห่งชาติของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเริ่มวิจัย 3 เรื่อง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติและฟื้นฟูเศรษฐกิจอันดามันด้วยธุรกิจ wellness
นอกจากนี้ยังมีการบรรยายหลายหัวข้อ อาทิ รูปแบบสถาปัตยกรรมและแพ็กเกจโรงแรมส่งเสริมสุขภาพ กรอบแนวคิด Quality Wellness Package for Andaman Economic Recovery เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในการปรับตัวสู่โรงแรมส่งเสริมสุขภาพ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 17 ปีที่ 40 ฉบับ 3,633 วันที่ 6-9 ธันวาคม พ.ศ.2563