"หมอยง" ไขข้อข้องใจ โอกาสติดเชื้อ "โควิด" จาก "อาหารทะเล" พร้อมแนะวิธีกินให้ปลอดภัย

21 ธ.ค. 2563 | 03:57 น.

นพ.ยง ไขข้อข้องใจโอกาสติดเชื้อ "โควิด-19" ปนเบื้อนในอาหารทะเล พร้อมแนะวิธีกินให้ปลอดภัย ต้องปรุงสุก  หากจับต้องกับอาหารทะเลที่แช่เย็น ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยผงซักฟอก 

21 ธันวาคม 2563  ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "โควิด 19 กับอาหารทะเล" เพื่ออธิบายโอกาสที่เชื้อโควิดจะปนเบื้อนในอาหารทะเล และวิธีกินอาหารทะเลให้ปลอดภัยจากโควิด ใจความว่า 

 

อาหารทะเล โดยมากจะต้องทำความเย็นหรือแช่แข็งเพื่อให้คงคุณภาพได้ดี ถ้าชาวประมง ผู้ขาย มีการติดเชื้อโควิด 19 โอกาสที่จะเชื้อปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเลและไวรัสคงชีวิตอยู่ได้นาน จึงมีความเป็นไปได้ ที่จะตรวจพบไวรัสในอาหารทะเลแช่เย็น เช่นการตรวจพบในปลาแซลมอน กุ้งนำเข้าในประเทศจีน 

 

การติดต่อของโรคโควิด 19 ผ่านทางอาหารทะเล มีการตั้งข้อสงสัยในประเทศจีน อย่างไรก็ตามอาหารทะเล สามารถบริโภคได้ ถ้าปรุงสุก ความร้อนสามารถทำลายไวรัสได้อย่างแน่นอน โควิด-19 สามารถทำลายด้วยความร้อน 56 องศานานครึ่งชั่วโมง และถ้าความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาก็จะสั้นลง โดยทั่วไปแล้วถ้าความร้อนสูงกว่า 85 องศา ก็จะมั่นใจในการทำลายไวรัสได้ และถ้าต้มให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาไวรัสจะถูกทำลายทันที 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

นพ.ยง ระบุว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคจึงไม่ควรรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่สุก  สิ่งที่จะต้องคำนึงคือการจับต้องกับอาหารทะเลที่แช่เย็นมา จะต้องล้างมือให้สะอาด และชำระล้างอาหารทะเล โดยใช้น้ำสะอาดให้มีปริมาณมากพอ และจะต้องทำความสะอาดมือด้วยผงซักฟอก ถ้าเป็นไปได้ควรใส่ถุงมือ และล้างถุงมือ หรือใช้แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทุกครั้งต้องล้างมือก่อนจับต้องใบหน้า

 

ในระบบนำส่งอาหารทะเล ก็จะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลเรื่องความสะอาด ตลอดเส้นทาง  อุตสาหกรรมอาหารทะเล โรงงาน จะต้องหมั่นตรวจดูคนงาน และอาจจำเป็นต้องสุ่มตรวจหาเชื้อไวรัส โควิด-19 เพราะผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง อาจไม่มีอาการของโรค


อาหารทะเลยังคงรับประทานได้ตามปกติ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะปลาทะเล แต่ขั้นตอนตั้งแต่ผลิต หรือจับมาจากชาวประมง จำหน่าย การเตรียมมาทำอาหาร ทุกขั้นตอนให้คำนึงเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย ในการจับต้องกับอาหารทะเลแช่เย็นหรือแช่แข็ง เพื่อความปลอดภัยของทุกคน"

นพ.ยง ยังโพสต์อีกข้อความว่า โควิด-19 ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข

ทุกคนตกใจเมื่อเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อหลายร้อยคนในหนึ่งวัน

ความสำคัญการระบาดไม่ได้อยู่ทีตัวเลข

การระบาดในสิงค์โปร์ ร่วม 6 หมื่นคน เสียชีวิตเพียง 29 คน เพราะระบาดส่วนใหญ่ในแรงงานต่างด้าว เป็นกลุ่มก้อน ร่างกายแข็งแรง แทบไม่ต้องรักษาอะไรเลย เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่พยายามกักกันไม่ให้ระบาดเข้าสู่ ชุมชนชาวสิงค์โปร์

ทำนองเดียวกัน ในประเทศไทย ถ้าการระบาดในแรงงานต่างด้าวที่อยู่เป็นกลุ่มก้อน ก็จะเจอผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

สิ่งสำคัญอย่าให้เกิดการแพร่กระจายออกมาภายนอก เป็นวงกว้าง การควบคุมจะได้อยู่เฉพาะที่ การติดตามการสัมผัสที่ออกมาภายนอก จะต้องเร่งรีบควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดได้

การควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

การเปิดเกมรุก ตรวจแรงงานต่างด้าวทั้งประเทศมีความจำเป็น ไม่ให้เกิดเหตุ แบบสมุทรสาครในพื้นที่อื่น

การปิดเมืองสมุทรสาคร ที่มีความจำเป็นการจำกัดเขตไม่ให้ แพร่กระจายวงกว้าง

การระบาดเฉพาะที่ ถึงแม้ว่าจะมีตัวเลขหลักร้อยหลักพันในแรงงานรวมกลุ่ม ก็ยังดีกว่าการระบาดกระจายวงกว้าง ถึงแม้จะเป็นหลัก 10 ก็จะทำให้ยากต่อการควบคุม และแพร่กระจายโรค

การระบาดในวัยแรงงาน ก็ยังดีกว่า การระบาดเข้าสู่ประชากรผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยง ที่มีโรคประจำตัว

สิ่งที่สำคัญขณะนี้ ทุกคนต้องช่วยกัน มีระเบียบวินัย เคร่งครัดในการปฏิบัติตน ให้โรคจำกัดเฉพาะพื้นที่ ถึงแม้จะเป็นหลักร้อย หลักพัน

ที่มา : เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan