นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 กล่าวว่า คนไทยพยายามฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 53,000 – 54,000 คน ด้วยสาเหตุหลายปัจจัย ทั้งปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาสุราและสารเสพติด ความเจ็บป่วยเรื้อรังทางกายและจิต ตลอดจนปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจในปี 2563 นั้น มีความสัมพันธ์กับสาเหตุการฆ่าตัวตายมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา
ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตฯ จึงมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานและจัดหาแนวทางการดำเนินงาน ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม ผู้แทน องค์กรภาคเอกชน เป็นต้น ร่วมกันดูแลทั้งด้านสุขภาพจิตใจ สุขภาพร่างกาย และด้านเศรษฐกิจสังคม เน้นเสริมสร้างพลังใจ
พร้อมสร้างความรับรู้และให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิ สวัสดิการทางสังคมและสุขภาพพื้นฐานเพื่อหาทางออก เป็นการ “ซื้อเวลา” สร้างกระบวนความคิดและเกิดการตัดสินใจใหม่ ลดการฆ่าตัวตาย, คัดกรอง ค้นหา และเฝ้าระวังประชาชนกลุ่มเสี่ยง ด้านสาธารณสุข เช่น ผู้ป่วยโรคทางจิตเวช ผู้มีปัญหาสุรายาเสพติด และผู้เคยมีประวัติฆ่าตัวตาย, พัฒนารูปแบบการจัดการในจังหวัดที่มีกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดจำนวนผู้ฆ่าตัวตาย และพัฒนาระบบเทคโนโลยี นวัตกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกัน การฆ่าตัวตายระดับชาติ ปี 2564-2565
ประเทศไทย มีการพยายามฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 53,000 – 54,000 คน และกระทำการฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,000 คน คิดเป็น 6-6.5 ต่อแสนประชากร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยพบเป็นเพศชายมากกว่าหญิง เป็นกลุ่มวัยทำงาน กับผู้สูงอายุ และกลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงาน/กลุ่มรับจ้าง เกษตรกรรม รวมทั้งกลุ่มไม่มีรายได้
นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงาน กำหนดมาตรฐานผู้ให้บริการด้านจิตวิทยา การปรึกษาทั้งแบบเฉพาะหน้าและผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการบริการสาธารณสุข ในเชิงการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายด้วย
ที่ประชุมยังพิจารณาให้จัดตั้งคณะทำงาน และแนวทางการดำเนินงาน เพื่อบูรณาการระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้าน ร่วมกันทำงานเป็นเครือข่ายช่วยประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงาน ให้ผู้ป่วยจิตเวชไร้บ้านได้รับการคุ้มครองสิทธิ และรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรฐานสากล ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อตนเองและสังคม โดยผลักดันให้พร้อมลดภาระงบประมาณ และทรัพยากรด้านบุคลากรลง และผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมตั้งแต่ระบบการนำส่งผู้ป่วย การรักษา การใช้สิทธิรักษาพยาบาล ตลอดจนติดตามอาการรักษาอาการฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาชีพหรือดูแลตนเองได้ และสามารถอยู่ในครอบครัวและอยู่ร่วมกับชุมชนได้