ประเด็นร้อนสนั่นโลกโซเชียล จนทำให้อย. ต้องออกมาประกาศสังคายนาเมื่อ พิธีกรสาวคนดัง กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดหนึ่ง บรรยายอวดสรรพคุณอาหารเสริมว่า “กรอบหน้าชัด เหนียงหาย หน้ายก ตาที่เคยหนังตาตกก็เป็นตา 2 ชั้น รอยขมวดคิ้วหาย ร่องแก้มตื้น จมูกเข้ารูป ย้ำอีกครั้งว่า ไม่เคยทำจมูกอะไรใด ๆ ตอนนี้กินแต่ผลิตภัณฑ์ตัวเองเท่านั้น”
ทำให้ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัยว่า อวดอ้างสรรพคุณและโฆษณาเกินจริงหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้ อย. ออกมาตรวจสอบ ซึ่ง “อย.” ไม่รอช้า รับลูกพร้อมประกาศทันทีว่า การโฆษณานี้ เป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง พร้อมกับทำหนังสือถึงกองปราบปรามการกระทำผิดต่อผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อเอาผิด “กาละแมร์” และให้ถอดโฆษณาทันที
ดราม่าระลอกแรกยังไม่ทันจบ ดราม่าระลอก 2 ก็ตามมาเมื่อ ชาวเน็ตโพสต์วีดีโอรีวิวอาหารเสริมดังกล่าว ซึ่งมี “ติช่า กันติชา” เป็นแขกรับเชิญ โดยกาละแมร์อ้างถึงครอบครัวหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ที่สามีติดโควิด ในขณะที่ภรรยาและลูกไม่ติด เพราะทานอาหารเสริมของเธอ ซึ่งช่วยเสริมภูมิต้านทาน และภายหลังจากสามีได้ทานอาหารเสริมดังกล่าวเพียงเสริม 7 วัน ปรากฏว่าเชื้อโควิดหาย
ดราม่ายิ่งแรงกว่าเดิมและเรียกร้องให้ อย. เอาผิดและลงดาบมากขึ้นเพราะ พิธีกรสาวเคยถูกดำเนินมาก่อนหน้านี้แล้ว 7 คดี ในข้อหาโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริงมาแล้ว
ซึ่งความผิดเข้าข่ายโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท และข้อหาโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 41 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ชาวเน็ตยังโยงไปถึง “ถั่งเช่า” ของนักร้องลูกทุ่ง “ยิ่งยง ยอดบัวงาม” ที่มีอวดอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรคครอบจักรวาลเช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรัง
เนื้อหาการโฆษณามีผู้ป่วยอาการหนัก ร่างกายทุดโทรมที่หายป่วยได้อย่างไม่น่าเชื่อหลังจากได้รับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และยังมีคนดังอีกหลายคน ที่ร่วมโฆษณา “ถั่งเช่า”
งานนี้ “พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ” กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไลฟ์เฟซบุ๊กในเพจ กสทช. ว่า กสทช. อย. กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้นิ่งนอนใจ และร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาเกินจริงอย่างจริงจัง
โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ลงโทษโดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย และมีอีก 2 ราย ที่ อย. วิจิฉัยมาแล้วว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท
นอกจากจะดำเนินการปรับสถานีโทรทัศน์แล้ว กสทช. จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เนื่องจากกฎหมายของ กสทช. ให้อำนาจ ในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงพิธีกร และเจ้าของผลิตภัณฑ์
โดยค่าปรับของ กสทช. กฎหมายกำหนดไว้ 5 แสนบาทสูงถึง ไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท ภายหลังได้รับคำสั่งเตือน มีผู้ประกอบการวิทยุ ขอยกเลิกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 260 ราย โดยเฉพาะรายเล็ก และนอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้ เมื่อมาขอต่อใบอนุญาต จะถูกลดอายุใบอนุญาตลง อย่างในกรณีของวิทยุ จะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เองย้ำว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ
ดังนั้นการโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค ทั้งเสริมภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ไต ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้น จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในปี 2563 อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ จำนวน 1,388 คดี ในส่วนความร่วมมือในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณาตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง
“การโฆษณาไม่ว่าจะเป็นการพูดในรายการทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์และพรีเซ็นเตอร์ หรือทำแอดโฆษณาใดๆที่มีการอ้างสรรพคุณ ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็แล้วแต่ ทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องขออนุญาตกับ อย.ก่อน หาก อย.ไม่อนุญาตจะมีความผิดทันที 1 ข้อหา คือ โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย. สั่งฟัน “กาละแมร์” พิธีกรชื่อดัง ดราม่าโฆษณาขายสินค้าเกินจริง
คำเตือน อย. “ถั่งเช่า” โฆษณาเกินจริงยังไง เช็กข้อมูลได้ที่นี่
"ถั่งเช่า-อาหารเสริม" งานเข้า กสทช.-อย. ฟันโฆษณาเกินจริง
อย. - กสทช. เดินหน้าต่อ กวาดล้างโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพสื่อโทรทัศน์–วิทยุ