นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2564 องค์การสุขภาพสัตว์โลก(OIE) รายงานพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza:HPAI) ทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ H5Nx(ไม่สามารถแยก N ได้) H5N1 H5N5 H5N6 และ H5N8 รายงาน 58 ครั้ง รวมจำนวนจุดเกิดโรคทั้งหมด 87จุด ซึ่งพบใน 2 ทวีปทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปพบในประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สวีเดนโปแลนด์ รัสเซีย อังกฤษ ฮังการีและลิทัวเนีย ส่วนทวีปเอเชียพบในประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่นอินเดีย อิหร่าน เวียดนาม อิรัก และกัมพูชา
“เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 รายงานพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง H5N1 ในสัตว์ปีกพื้นเมือง ที่อำเภอเอกพนม จังหวัดพระตะบองของราชอาณาจักรกัมพูชา ประกอบกับช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิลดลง ส่งผลทำให้สุขภาพสัตว์ปีกไม่แข็งแรง อ่อนแอลงและป่วยติดเชื้อได้ง่าย จากสภาพอากาศที่เย็นลง ขอให้เกษตรกรดูแลสัตว์เลี้ยงของท่านอย่างใกล้ชิด ให้กรมปศุสัตว์เฝ้าติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามแนวชายแดนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข และฝ่ายปกครอง ตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออกตามแนวชายแดน เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ด่านกักสัตว์ตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อยานพาหนะต้องสงสัยที่จุดผ่านแดน ทั้งรถยนต์ รถจักรยาน และรถเข็น”นายเฉลิมชัยกล่าว
ด้าน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ปศุสัตว์ทุกจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้มีการเข้มงวดในการป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งกำชับขอให้ทุกพื้นที่ลงสำรวจ เฝ้าระวังเชิงรุก โดยเข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยนกอพยพและวางไข่ มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดในสัตว์ปีก ฟาร์มในทุกระดับของพื้นที่มีการจัดการทำระบบการป้องกันโรคที่ดี เกษตรกรในพื้นที่ต้องมีการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน
“หากผู้ใดพบเห็น การลักลอบเคลื่อนย้ายหรือพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะตลอดตามแนวชายแดน สามารถแจ้งเบาะแสแก่อาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด อย่างเร่งด่วน หรือแจ้งผ่านสายด่วน กรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 และแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะเร่งเข้าดำเนินการตรวจสอบ และเฝ้าระวังควบคุมโรคตามมาตรการที่กำหนดไว้ทันที” น.สพ.สรวิศ ระบุ