จากกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อนุมัติให้รถไฟฟ้าสายสีเขียว BTS ปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าใหม่ โดยทำให้ผู้บริโภคจะต้องเสียค่าโดยสารสูงถึง 104 บาทต่อเที่ยว ซึ่งมีทั้งเสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วน ทั้งประชาชน หน่วยงานกระทรวงคมนาคม นักวิชาการจาก TDRI พรรคการเมืองต่างๆ กรรมาธิการคมนาคม รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น
ล่าสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประกาศคัดค้านต่อเนื่อง พร้อมเสนอ 8 เหตุผลเพื่อคัดค้าน และ เสนอทางออก เพื่อให้นำไปพิจารณาก่อนการขึ้นราคาในครั้งนี้ ดังนี้
1. ทุกคนมีความทุกข์จากการเดินทางในปัจจุบัน หน้าที่ของรัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการขนส่งมวลชนให้เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวถึงร้อยละ 43 ใช้รถมอเตอร์ไซต์ ร้อยละ 26 ส่วนบริการรถขนส่งสาธารณะมีผู้ใช้เพียงร้อยละ 24 ได้แก่ รถโดยสาร คิดเป็นร้อยละ 15.96 รถแทกซี่ คิดเป็นร้อยละ 4.2 ระบบราง คิดเป็นร้อยละ 2.68 รถตู้ คิดเป็นร้อยละ 1.28 เรือ คิดเป็นร้อยละ 0.28
2. บริการรถไฟฟ้ากลายเป็นบริการทางเลือกแทนที่จะเป็นบริการขนส่งมวลชน เหมือนกับทุกประเทศที่ทำให้ทุกคนต้องขึ้นได้ เนื่องจากต้องจ่ายค่ารถไฟฟ้าที่ให้บริการโดย BTS ตลอดสายสูงถึง 104 บาทต่อเที่ยว ซึ่งการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 31.5 ของรายได้ขั้นต่ำของคนกรุงเทพมหานครที่มีรายได้ขั้นต่ำ 331 บาทต่อวัน หรือสูงถึงร้อยละ 63 ต่อค่าจ้างรายวัน หากใช้การเดินทางไปกลับ
3. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประเทศไทยแพง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้สูงถึงร้อยละ 26 - 28 ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่กรุงปารีส ลอนดอน โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง มีค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 3 - 9 เท่านั้น
4.ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกกว่านี้ได้ ขนส่งมวลชนที่ราคาถูกในหลายประเทศ เพราะนำรายได้จากการให้เช่าพื้นที่หรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณรถไฟฟ้า หรือ รายได้จากการโฆษณามาสนับสนุนราคาค่าโดยสาร ขณะที่กรุงเทพมหานครหรือหน่วยงานที่ให้สัมปทานไม่มีการเปิดเผยผลประโยชน์ในส่วนนี้ว่ามีการแบ่งหรือจัดสรรอย่างไร หรือแม้แต่การสนับสนุนจากรัฐบาลหรือท้องถิ่น
5. ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ให้กทม. ต้องคำนึงถึงราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และพิจารณาเรื่องค่าแรกเข้ารถของรถไฟฟ้าสายสีเขียว และยังขัดต่อกฎหมายของกรุงเทพมหานคร ที่การอนุมัติให้ขึ้นราคาต้องผ่านความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร
6. ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล ในการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานหลักสายสีเขียว หรือ สัญญาการให้บริการรับจ้างวิ่งรับส่งผู้โดยสารในส่วนต่อขยายที่เกินสัญญาสัมปทานหลัก หรือ การขึ้นราคาในส่วนต่อขยาย ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง พื้นฐานรายได้ โครงสร้างหนี้ หรือ รายละเอียดกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นเพียงการเตรียมการให้ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ต้องยอมรับราคา 65 บาทต่อเที่ยว ซึ่งยังมีราคาแพงและไม่มีเหตุผลในการกำหนดราคานี้และยาวนานถึง 38 ปี
7. ควรนำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายในปัจจุบันมาพิจารณาเพื่อความเป็นธรรม กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีบริการรถไฟฟ้าให้บริการ 6 สายในปัจจุบัน และมีโครงการ 14 สายในอนาคต ซึ่งเชื่อมโยงกันหลายสาย แต่มีปัญหาสัมปทานที่แตกต่างๆ กันไปจากหลายหน่วยงาน ทำให้ผู้บริโภค ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแรกเข้าหรือการใช้บริการครั้งแรกให้กับทุกสัมปทาน ให้กับทุกบริษัท หรือทุกสายที่ใช้บริการ (ค่าแรกเข้าทุกครั้งที่ใช้บริการแต่ละสาย)
จึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องนำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายมาพิจารณาเพื่อตรวจสอบและกำหนดให้เกิดความเป็นธรรมเรื่องราคากับผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดการใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นและเป็นบริการขนส่งมวลชนสำหรับของทุกคน
และ 8. สัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนไม่สัมพันธ์กับรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวัน เช่น ประเทศมาเลเซียที่กำหนดให้ค่าบริการขนส่งมวลชน ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือ ประเทศออสเตรเลีย จะมีการกำหนดเพดานราคาสูงสุดของประชาชนในการใช้บริการขนส่งมวลชนต่อวัน หรือแม้แต่การกำกับให้สามารถใช้บัตรรถไฟฟ้าใบเดียว ซึ่งรัฐบาลไทยเคยมีแผนงานเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีการดำเนินการจนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องชะลอการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในราคา 104 บาททันที เพื่อดำเนินการให้บริการขนส่งมวลชนซึ่งเป็นบริการขั้นพื้นฐานได้รับการพัฒนาและประชาชนสามารถใช้บริการได้เพิ่มขึ้น ในราคาที่ถูกลงระหว่างช่วงวิกฤตมลภาวะทางอากาศ หรือ ปัญหา PM 2.5 ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการให้สัมปทานกับหน่วยงานต่างๆ ในการมีบริการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าต่างส่วนต่างทำ โดยไม่มีการกำกับดูแล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง