กทม.ยันค่าโดยสาร"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" 104 บาท เหมาะสมแล้ว

01 ก.พ. 2564 | 12:39 น.

กทม.ยืนยันค่าโดยสาร"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" 104 บาทตลอดสาย เหมาะสมแล้ว พร้อมระบุ ยอมแบกภาระขาดทุนปีละ 3,000-4,000 ล้านบาทเพื่อประชาชน

หลังการเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ทยอยเปิดให้บริการเดินรถมาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 61 และเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 63  


ซึ่งในช่วงทดลองให้บริการขณะที่ยังไม่ได้เดินรถเต็มรูปแบบ ไม่ได้เรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นเวลาเกือบ 3 ปี  อันเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน


อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับกรุงเทพมหานครมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงจำเป็นต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 64 เป็นต้นไป

กทม.ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท เหมาะสมแล้ว

 

นายประพาส เหลืองศิรินภา  ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เปิดเผยว่า  ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิมและไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกัน ระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (หมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ) กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า อ่อนนุช-แบริ่ง ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)  โดยประชาชนจะจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวต่อรอบ
 

ทั้งนี้จากการคำนวณอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะรวมเป็นเงิน 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 (COVID-19) กรุงเทพมหานครได้ปรับลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายลงมาอยู่ที่ 104 บาท  


"การปรับลดอัตราค่าโดยสารดังกล่าวจะส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยเมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 64 – 72 จะมีผลขาดทุนรวมประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท"

 

นายประพาส เหลืองศิรินภา  ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.

นายประพาส  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในช่วงที่ผ่านมากรุงเทพมหานครตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน จากการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยได้ศึกษาแนวทางการดำเนินการต่างๆ ซึ่งเห็นว่า แนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 


"เราพยายามหาแนวทางเพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนมากเกินไปและจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพต่อไป"