รู้ตัวหรือเปล่า... คนไทย(กิน)เค็มเกินมาตรฐาน 2 เท่า

27 ก.พ. 2564 | 02:05 น.

ปัจจุบันทุกฝ่ายตระหนักถึงการบริโภครสเค็มของคนไทย รวมถึงพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้ว่าในปี 2564 จะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือโควิด -19 แต่จำนวนผู้ป่วยโรคไตของประเทศไทยในปัจจุบันทะลุถึง 8 ล้านคน และการรับประทานเค็มยังทำให้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 11.5 ล้านคน

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ 30% ภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อลดโรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อน แต่เนื่องจากข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยนั้นมีจำกัด จึงทำให้เกิดงานวิจัย ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1–11.) 


งานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นำไปตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension โดยเก็บข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยทั่วประเทศกว่า 2,388 คน ด้วยวิธีการตรวจเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง นำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือและแม่นยำที่สุดในขณะนี้


สิ่งที่พบคือ พฤติกรรมคนไทยบริโภคโซเดียม (เกลือ) เฉลี่ยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา โดยปริมาณการบริโภคโซเดียมของประะชากรไทย ภาคใต้ จำนวน 4,108 มก.ต่อวัน, ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก.ต่อวัน, ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก.ต่อวัน, กรุงเทพฯ จำนวน 3,496 มก.ต่อวัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3,316 มก.ต่อวัน 

ทางทีมวิจัยยังพบว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง นํ้าหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ และคนที่มีความดันโลหิตสูง มีการบริโภคโซเดียมมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปแล้ว คนไทยบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึงเกือบ 2 เท่า จากเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกในประเทศไทยที่ใช้วิธีสำรวจมาตรฐานอย่างเป็นระบบ จึงเป็นประโยชน์มากต่อการเปรียบเทียบข้อมูลการบริโภคโซเดียมของคนไทยในอนาคต


 ขณะเดียวกันทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้เปิดเผยตัวเลขปัจจุบันคนไทยกินเค็มเกิน 2 เท่า (โซเดียมเฉลี่ยที่คนไทยกิน 4,352 มิลลิกรัมต่อวัน) ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อ 1 วัน ไม่ควรเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือ 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ เทียบเท่ากับ เกลือ 1 ใน 3 ต่อ 1 ช้อนชา นํ้าปลา 2 ใน 3 ต่อ 1 ช้อนชา(ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงออกแบบ “ช้อน ปรุง ลด” เพื่อสร้างกระแสการจดจำให้คนไทยได้รู้ถึงปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมที่ควรทานในแต่ละมื้อ และต้องการให้คนไทยค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมการปรุงลดลงด้วยช้อนชาปกติที่ใช้อยู่ ช้อนดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเชิงพาณิชย์ และไม่สามารถหาซื้อได้ 


ล่าสุด สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายลดบริโภคเค็มและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งทำความเข้าใจและการปรับทัศนคติการใช้ชีวิตในการอยู่ร่วมกับโรคไต ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต ต้องระมัดระวังตนเองให้มากขึ้น ดังนั้น การจัดกิจกรรมวันไตโลก ประจำปี 2564 ในปีนี้ จึงเป็นที่มาของคำขวัญ “ไตวายไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว” โดยกิจกรรมวันไตโลกจะจัดในรูปแบบออนไลน์ ผ่าน FACEBOOK LIVE ของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย จัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 11 มีนาคม 2564  ตั้งแต่เวลา 09.00-13.30 น. เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,656 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564