นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเกษตรกรที่มีการทำนาในช่วงฤดูแล้ง หลังผลสำรวจล่าสุดมีการทำนาปรัง ปี 2563/64 ทั่วประเทศ จำนวน 4.87 ล้านไร่ เกินแผนมากกว่า 2.97 ล้านไร่ หรือ 156.80% จากแผนการเพาะปลูกที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านไร่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีการทำนาเกินแผนแล้ว 2.786 ล้านไร่ จากที่ไม่ได้กำหนดให้มีการทำนาในฤดูแล้งแต่อย่างใด เพราะปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ไม่มีน้ำต้นทุนที่จะสนับสนุนการทำนา เกษตรกรต้องใช้น้ำในแหล่งน้ำของตัวเองและแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ จากสถานการณ์น้ำที่จำกัดและการทำนาเกินแผนที่กำหนดไว้ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายต่อนาข้าวใน 45 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีพื้นที่ทำนา 3.621 ล้านไร่ เฉพาะใน 4 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และนครศรีธรรมราช มีการทำนาปรังถึง 3.075 ล้านไร่
สำหรับการทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้ง ปี 2563/64 พบว่ามีการทำนาปรังเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ แม้ภาครัฐจะไม่สนับสนุนน้ำเพื่อทำนาปรัง โดยสัปดาห์ที่ 16 นับจาก พ.ย. 2563 มีการทำนาเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ 15 จำนวน 6,692 ไร่ หรือมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 836,662 ไร่
“กรมชลประทานจึงขอความร่วมมือให้ชาวนาทำนาอย่างประณีต ไม่สูบน้ำเข้าไปเก็บในนาเกินความจำเป็น เพราะน้ำต้นทุนมีน้อย จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีการทำนาเกินแผน เนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนมีจำกัด ประตูระบายน้ำและอาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดย อปท. และ อบจ. จะให้เปิดรับได้เฉพาะน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เป็นครั้งคราว ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในแม่น้ำ ปิง น่าน เจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2563 - 30 เม.ย.2564”
นายประพิศ กล่าวว่า สำหรับปริมาณน้ำต้นทุน ฤดูแล้งปี 2563/64 ทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2563 มีปริมาณน้ำต้นทุนเหลือ 25,857 ล้าน ลบ.ม. มีแผนจัดสรรในฤดูแล้ง จำนวน 17,122 ล้าน ลบ.ม. มีเหลือสำรองน้ำสำหรับต้นฤดูฝน 8,735 ล้านลบ.ม.
สำหรับน้ำที่จัดสรรในฤดูแล้งนี้ จำนวน 17,122 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ เพื่ออุตสาหกรรม 392 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้ไปแล้ว 202 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% ของน้ำที่ได้รับจัดสรร เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 6,508 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้ไปแล้ว 3,840 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59%ของน้ำที่ได้รับจัดสรร เพื่ออุปโภคบริโภค 2,572 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้ไปแล้ว 1,516 ล้าน ลบ.ม. หรือ59%ของน้ำที่ได้รับจัดสรร น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 7,650 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้ไปแล้ว 4,548 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59%ของน้ำที่ได้รับจัดสรร
ณ วันที่ 23 ก.พ. 2564 คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้รวมในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก มีจำนวน 18,346 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 ถึง 23 ก.พ. 2564 จำนวน 10,106 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 59% ของ แผนฯ คงเหลือ ที่จัดสรรจากแผนฯ 7,016 ล้านลบ.ม. หรือ สัดส่วน 41% ของแผนฯ