กทม.เตรียมรับมือและป้องกันผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 2 - 4 มี.ค.นี้

02 มี.ค. 2564 | 14:27 น.

กทม.เตรียมความพร้อมรอบด้านเพื่อรับมือผลกระทบจากพายุฤดูร้อนวันที่ 2-4 มี.ค.นี้

จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศประเทศไทยสิ้นสุดฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน พร้อมแจ้งเตือนพายุฤดูร้อนซึ่งจะส่งผลให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะเริ่มได้รับผลกระทบช่วงวันที่ 2 - 4 มี.ค. 64 


ทางสำนักการระบายน้ำเตรียมความพร้อมป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากพายุฤดูร้อน โดยติดตามการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงติดตามและตรวจกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ตรวจอากาศของกรุงเทพมหานคร พร้อมแจ้งเตือนสภาพอากาศ สถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า ผ่านทางเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/ Facebook:@BKK_BEST และ Twitter:@BKK_BEST รวมทั้งแอปพลิเคชัน กทม. Connect ตลอด 24 ชั่วโมง 

 

กทม.เตรียมรับมือและป้องกันผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 2 - 4 มี.ค.นี้
สำหรับระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำได้เตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำ โดยมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำให้พร้อมใช้งานทุกสถานี ลดระดับน้ำในคลองให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช สำรองเครื่องสูบน้ำกรณีฉุกเฉิน จัดหน่วยเร่งด่วน (BEST) พร้อมเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ให้สามารถเข้าพื้นที่ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง 

กทม.เตรียมรับมือและป้องกันผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 2 - 4 มี.ค.นี้

 

นอกจากนั้น ยังได้ประสานการไฟฟ้านครหลวงกรณีฉุกเฉิน หรือไฟฟ้าดับ รวมถึงประสานหน่วยงานภายนอกที่มีโครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ หากพบสิ่งกีดขวางทางน้ำ กรุงเทพมหานครจะขอคืนพื้นที่ เพื่อประสิทธิภาพในการระบายน้ำ และแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
 

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นอกจากนี้สำนักสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกับสำนักงานเขต 50 เขต ในการตัดแต่งต้นไม้ตามแผนการตัดแต่งต้นไม้ประจำปีของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้ได้ตัดแต่งต้นไม้ไปแล้วกว่าร้อยละ 35 และให้เตรียมความพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงจากพายุฤดูร้อนในช่วงเวลาดังกล่าว 


โดยสำรวจตรวจสอบต้นไม้ขนาดใหญ่ รวมทั้งค้ำยันให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงและตัดแต่งลดทอนความสูง สางโปร่ง ลดแรงปะทะของลมและฝน กรณีมีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงโค่นล้ม จะพิจารณาขุดย้ายออก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

กทม.เตรียมรับมือและป้องกันผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 2 - 4 มี.ค.นี้


ทั้งนี้ในช่วงพายุฤดูร้อนดังกล่าว ขอให้ประชาชนตรวจสอบต้นไม้ภายในที่พักอาศัย หากพบต้นไม้ที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการโค่นล้มจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สามารถขอรับบริการตัดและขุดต้นไม้ได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งจะมีค่าบริการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าบริการ พ.ศ.2543 
 

สำหรับการเตรียมการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้มในช่วงฤดูฝน สำนักการโยธาประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต แจ้งเจ้าของป้ายโฆษณาให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากป้ายมีสภาพเก่าชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตรายต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขหรือให้รื้อถอน รวมทั้งดำเนินคดีกับป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด 


ขณะเดียวกันป้ายที่ได้ก่อสร้างเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 


นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับป้ายทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้มในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้ายอีกด้วย 

 

กทม.เตรียมรับมือและป้องกันผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 2 - 4 มี.ค.นี้

ทั้งนี้หากประชาชนประสบเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ จากผลกระทบจากพายุฤดูร้อน สามารถโทร.แจ้งได้ที่ สายด่วนกทม. 1555 ซึ่งให้บริการข้อมูลข่าวสาร รับแจ้งเหตุ ให้คำปรึกษาแนะนำ ประชาสัมพันธ์ โดยมีเจ้าหน้าที่รับสายจำนวน 120 คู่สาย ให้บริการตลอด 24 ชม. คอยรับเรื่องสอบถาม รับแจ้งปัญหามาวิเคราะห์ประมวลผล และประสานหน่วยงานภายในและภายนอกเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์พร้อมรายงานผลให้ผู้แจ้งได้รับทราบถึงการดำเนินการอีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รับมือพายุฤดูร้อน "กรมอุตุฯ"เผยพื้นที่เสี่ยงภัย จังหวัดไหนโดนบ้างเช็กเลยที่นี่!