เตรียมปรับเป็น"ศูนย์ฉีดวัคซีน" สภาอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ส่งมอบโรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 10 เชิงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ให้สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)สมุทรสาคร ใช้ในภารกิจสู้เชื้อโควิด-19 ต่อไปอาจใช้เป็นที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง-แรงงานต่างด้าวเข้าใหม่ก่อนเข้าโรงงาน
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม(ส.อ.ท.)จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 10 หรือโรงพยาบาลสนาม ของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 49 ไร่ ที่บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ถนนพระราม 2 จะแล้วเสร็จและทำการเปิด พร้อมส่งมอบให้กับทางจังหวัดสมุทรสาครได้ในวันที่ 8 มีนาคม 2564 โดยจะมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นประธานในการรับมอบ
ทั้งนี้ อาคารชุดแรกก่อสร้างด้วยเงินประมาณ 12 ล้านบาท ที่ผู้ประกอบการฯ ลงขันร่วมสมทบการดำเนินการ ภายใต้การดูแลของมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สามารถตั้งเตียงผู้ป่วยได้ขนาดประมาณ 200 เตียงขึ้นไป และเมื่อก่อสร้างเต็มตามแผนงานที่มี 6 อาคารแล้ว จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 1,000 เตียงขึ้นไป
“ตามแผนเดิมโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะใช้รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นคนงานของโรงานอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้สถานการณ์ปรับเปลี่ยนคลี่คลายลง จึงจะเปลี่ยนเป็นมอบให้ทางสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร (สสจ.)เข้ามาดูแลเพื่อใช้ในภารกิจรับมือเชื้อโควิด-19 ต่อไป"
ประธานส.อ.ท. สมุทรสาคร เผยต่อว่า โดยคาดว่าในวันที่ 15 มีนาคม 2564 จะใช้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวสมุทรสาครกลุ่มแรกที่ได้ลงทะเบียนไว้ เนื่องจากสถานที่อย่างกว้างขวาง สามารถจอดรถได้เป็นจำนวนมาก ตัวอาคารมีหลังคาสูงโล่ง ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ทำให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวกไม่ร้อนอบอ้าว
หลังจากนั้นอาจใช้เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับพักตัวของผู้ป่วยกลุ่ม HIGH RISK โดยจะเก็บอาคารโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ไว้ใช้งาน ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และอาจใช้เป็น Local Quarantine - สถานที่กักตัว 14 วันของแรงงานต่างด้าว ที่เพิ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ก่อนที่จะส่งตัวเข้าสู่ระบบโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยและจังหวัดสมุทรสาครยังไม่สามารถที่จะไว้วางใจได้ และยังคงไม่สามารถเข้าสู่ระยะปลอดเชื้อได้ 100% ในช่วงเวลาอันใกล้ หรือ 1-2 ปีนี้ โดยดูจากอัตราผู้ติดเชื้อที่ยังมีจำนวนมากในพื้นที่ทั่วไป และในโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อกันได้ง่าย จึงจำเป็นที่จะต้องแยกกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกมาจากผู้ป่วยทั่วไปที่อยู่ในโรงพยาบาล
ด้านนายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สมุทรสาคร ได้เปิดเผยว่า เมื่อทางสำนักงานสาธารณสุขฯได้รับมอบโรงพยาบาลสนามแห่งนี้มาแล้ว ก็จะดูสถานการณ์ว่า ควรนำมาปรับใช้งานอย่างไร โดยคาดว่าถ้าขยายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนวันละ 200 คน สถานที่ภายในโรงพยาบาลสมุทรสาครอาจะไม่เพียงพอ จึงจำเป็นที่จะต้องขยายหน่วยบริการ ออกไปตามโรงพยาบาลสนามที่เป็นศูนย์ฯต่าง ๆ ทั้งยังอาจใช้เป็นที่พักของผู้ป่วยกลุ่ม HIGH RISK หรือกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ที่อาจจะมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งผู้ป่วยกลุ่มนี้ หลังฉีดวัคซีนแล้วก็มีความจำเป็นที่จะต้องพักเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป
“ส่วนในอนาคตก็อาจมีความจำเป็นที่จะนำผู้ป่วยโรคโควิด-19 มาเข้าพัก หรือเป็นที่กักตัว 14 วัน ก่อนเข้าทำงาน สำหรับแรงงานต่างด้าวรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง