April Fool's Day 1 เม.ย. “วันโกหก” แชร์ข่าวปลอม-เรื่องหลอกลวง ระวังผิดพ.ร.บ.คอมพ์

31 มี.ค. 2564 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2564 | 07:05 น.

มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ตำรวจเตือนคิดให้ดีก่อนโพสต์-แชร์ข่าวปลอมวัน April Fool's Day 1 เม.ย.อาจผิดพ.ร.บ.คอมพ์

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ 1 เม.ย.ของทุกปี เป็น วัน April Fool's Day หรือ "วันโกหก" ที่เป็นธรรมเนียมของต่างประเทศ มักจะมีการเล่นมุกตลกและเรื่องหลอกลวงต่อกัน ซึ่งอาจมีประชาชนนึกสนุกโพสต์หรือแชร์ข้อมูลที่เป็นเรื่องหลอกลวงในวันพรุ่งนี้แล้วออกมาเฉลยในวันต่อมา โดยไม่ถือโทษโกรธกัน

แต่เนื่องจากในช่วงเวลานี้บ้านเมืองอยู่ในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประกอบกับประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จึงขอเตือนว่าอย่าโพสต์หรือแชร์เรื่องราวอะไรที่ไม่เป็นความจริงแล้วมาอ้างว่าเป็นการล้อเล่นในวันโกหกในลักษณะ ข่าวปลอม (Fake News) ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ได้รับความอับอาย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือในประเด็นอื่นที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ซึ่งในเรื่องนี้มีกฎหมายควบคุมอยู่อย่างชัดเจน

"ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากจะร่วมสนุกด้วยการโกหกก็ขอให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และไม่ละเมิดกฎหมาย" พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าว

เนื่องจากการโพสต์หรือแชร์ข่าวต่างๆ ในโซเชียลมีเดียที่ไม่เป็นความจริงจะมีโทษจำคุกและเสียค่าปรับตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

มาตรา 14 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน

มาตรา 14 (2) ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

มาตรา 14 (5) ผู้ใดเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ช่วงนี้มีผู้ไม่หวังดีพยายามปล่อยข่าวปลอมในหลายประเด็น เพื่อหวังให้ประชาชนเกิดความสับสนและตื่นตระหนก จึงฝากพี่น้องประชาชนใช้วิจารณญาณให้มากๆ ก่อนที่จะเชื่อและแชร์ข้อมูลโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจะได้มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว ตามนโยบายของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย" พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำไม 1 เมษาถึงต้องเป็นวันโกหกแห่งชาติ แต่ปีนี้หลายที่รณรงค์ "งดเล่นก่อนเถอะ"

เช็กที่นี่ 5 ข่าวลวง ที่ควรบอกต่อว่า "หยุดแชร์" ได้แล้ว

ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนแชร์ข้อมูลทุกครั้ง อย่าตกเป็นเครื่องมือ “ข่าวลวง”

กระทรวงดีอี & ปอท.แถลงจับ 9 คดีปล่อยข่าวลวง

Googleตั้งกองทุน3ล้านดอลลาร์ต้านข่าวลวงวัคซีนโควิด