2 เมษายน 2564 - นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง 2564 หลังกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า ความแห้งแล้งของปีนี้ จะเท่าๆกับปีที่แล้ว และเป็นแล้งปีที่ 3 ติดต่อกัน จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ต่อเนื่องมาถึงกลางฤดูฝนปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมรับมือฝนตกหนักสุดในรอบ 30 ปี
โดยปริมาณฝนสิ้นสุดเมื่อเมื่อเดือนธันวาคม ภาคเหนือมีฝนตก 1,020 มิลลิเมตร (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1,200 มิลลิเมตร) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตร (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1,400) ภาคกลางมีฝนตกเฉลี่ยเพียง 1,100 มิลลิเมตร ภาคตะวันตกมีฝนตกเฉลี่ย 1,700 มีฝนตกเฉลี่ย ส่วนภาคใต้ ฝนตกอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยเพียงภาคเดียว ฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย
รวมทั้งฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดลง บางพื้นที่แห้งแล้งรุนแรง และส่งสัญญาณการขาดแคลนน้ำปรากฏให้เห็นชัดเจน ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่ หน่วยงานบริหารการแห่งมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) หรือ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ได้รายงานผลตรวจวัดอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลรวม 200 จุด และคาดการณ์ล่วงหน้าระยะเวลา 6 เดือน พบว่า ประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน จะเกิดพายุฤดูร้อน มีลมกรรโชกแรง มีฝนตกแต่ปริมาณไม่มาก และเกิดลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการกลางเดือนพฤษภาคม และมีฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม
โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงปลายฤดูฝน จะมีฝนตกมากกว่าเกณฑ์ปกติโดยทั่วไป โดยในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม จะมีฝนตกมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคอิสานตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก
ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรน้ำของประเทศไทย เช่น กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 อ่าง จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2564 พบมีปริมาณน้ำรวม 36,256 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นน้ำใช้การ 12,713 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับ 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อสิ้นหน้าฝนในปีปกติจะมีน้ำใน 4 อ่าง รวมกันมากกว่าหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีที่แล้วและปีนี้ มีเพียงแค่ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือครึ่งหนึ่งของที่ควรจะมี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง โดยพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นพื้นที่การเกษตรที่ต้องการใช้น้ำปริมาณมาก และต่างคาดหวังจะใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก
ภาครัฐจึงกำหนดมาตรการและแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยแบ่งจัดสรรเป็นน้ำใช้การ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะสามารถใช้ได้ตามแผนไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน และเก็บกักสำรอง 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนตกต้องตามฤดูกาลในเดือนพฤษภาคมก็ไม่เป็นปัญหา
แต่ถ้าฝนล่าช้าก็จะเกิดผลกระทบ เกษตรกรที่ต้องการปลูกช่วงต้นฤดูไม่สามารถทำได้ ต้องปลูกข้าวและตามฝนเท่านั้นเพื่อปองกันพืชผลทางการเกษตรเสียหาย โดยที่น้ำที่เก็บกักสำรองไว้ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรดังกล่าว จะนำมาใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงได้ถึงเดือนกรกฎาคม 2565
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเป็นผู้ควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ในแต่ละพื้นที่ และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 โดยงดส่งน้ำเข้าระบบสำหรับการเกษตร เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภค ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนช่วงฤดูแล้ง
แม้ว่าภาครัฐ จะแจ้งให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรังตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เพราะหากปลูกแล้วผลผลิตเสียหาย รัฐบาลจะไม่เข้าไปช่วยเหลือ และกรมชลประทาน ก็จะไม่ส่งน้ำให้ ยกเว้นกรณีที่ต้องการรักษาระดับน้ำนอนลำคลอง เพื่อไม่ให้คลองแตกหักเสียหาย หรือคันคลองพังทลายหากไม่มีน้ำไปเลี้ยง
ซึ่งก็พบว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อย ในเขตพื้นที่ที่มีระบบส่งน้ำจากแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน โดยเฉพาะจังหวัดลำปาง แพร่ สุโขทัย น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ สิงบุรี อ่างทอง ปทุมธานี และเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร มีเกษตรกรเสี่ยงปลูกข้าวรวมเนื้อที่ประมาณ 5 ล้านไร่ โดยข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 พบการปลูกข้าวอายุระหว่าง 1 ถึง 8 สัปดาห์ อยู่อีกกว่า 1 ล้านไร่ (ดังภาพจากภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA) ซึ่งอยู่ในช่วงที่ต้องการใช้น้ำมากนั้น เกษตรกรจะต้องดิ้นรนหาน้ำใกล้เคียงและสูบน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำไปใช้เพื่อการเกษตร ทำให้คนพื้นที่ปลายน้ำมีน้ำอุปโภคบริโภคไม่พอใช้
รวมทั้งไม่มีน้ำเพียงพอที่จะผลักดันน้ำเค็มจากน้ำทะเลหนุนสูง เพื่อควบคุมความเค็มไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการผลิตน้ำประปา และรักษาระบบนิเวศ โดยช่วง 23 ถึง 26 มีนาคม และ 7 ถึง 9 เมษายน 2564 จะเกิดภาวะน้ำเค็มจากปากอ่าวไทยหนุนสูงเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำแม่กลอง ส่งผลต่อการผลิตน้ำประปา และพื้นที่การเกษตรบางแห่ง อีกด้วย
“ขอฝากให้ทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ภาคการเกษตร ให้งดทำนาปรัง ไม่สูบน้ำจากแม่น้ำ ส่วนชาวเมือง ขอให้เลิกพฤติกรรมการใช้น้ำฟุ่มเฟือย เปลี่ยนมาใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และภาคอุตสาหกรรม ลดปริมาณการใช้น้ำ นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และใช้หมุนเวียน เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝน” นายชวลิต กล่าว