ดร.บัณฑิต แสงเสรีธรรม นักวิชาการตัวแทนวิสาหกิจชุมชนสุขภาพชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ม้งใช้ประโยชน์จากกัญชง-กัญชามานับพันปี จนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต กระทั่งก่อนฝังศพยังต้องห่อด้วยผ้าทอใยกัญชง จึงจะตายตาหลับ จึงมีองค์ความรู้การปลูกและใช้กัญชงกัญชาที่สืบทอดมายาวนาน
“เรามั่นใจว่าองค์ความรู้เรื่องกัญชาของเราไม่เป็นรองใคร แม้กระทั่งของฝรั่งหรืออเมริกาที่ศึกษาวิจัยกันมากก็มีประวัติต่อยอดจากชาวม้ง ตั้งแต่เริ่มรู้จักกัญชาตอนเข้ามาทำสงครามเวียดนาม เมื่อแพ้สงครามเวียดนามต้องถอนฐานทัพออกไป กลุ่มม้งชาวพลวังเปาอพยพเข้ามาอยู่ที่ถ้ำกระบอก หลายคนอพยพไปอยู่อเมริกาและได้นำกัญชาเข้าไปปลูกไปขยายในสหรัฐฯ มีชาวม้งไปเป็นลูกไร่ปลูกกัญชาให้ จนทำให้สหรัฐอเมริกาได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาสารจากกัญชาอย่างเช่นทุกวันนี้” ดร.บัณฑิตกล่าว
เมื่อรัฐบาลไทยปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร จับมือวิสาหกิจชุมชนสุขภาพชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย ให้เป็นแหล่งปลูกกัญชาทางการแพทย์ เพื่อป้อนผลผลิตให้สถาบันการศึกษาไปวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดมา ให้เกิดประโยขน์ทั้งในด้านสุขภาพ เกิดผลตอบทางทางเศรษฐกิจ เมื่อสุขภาพกายสุขภาพเศรษฐกิจดี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและสังคมดีขึ้นไปด้วย
ดร.บัณฑิตกล่าวอีกว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุขภาพชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย จัดทำแปลงเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ ในพื้นที่ 300 ไร่ ที่มีการทำรั้วรอบขอบชิด รั้วสูงตามข้อกำหนด ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและกล้องวงจรปิดโดยรอบ เข้าออกทางเดียวพร้อมประตูรั้วที่สามารถคัดกรองคนเข้าพื้นที่ได้ ภายในมีถนนตลอดแนวรั้วอีกชั้น และแบ่งแปลงเพาะปลูกให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่สนใจเข้าเป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯไปดูแล ครอบครัวละ 1 ไร่ เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิดและกระจายอย่างทั่วถึง
“การดูแลต้นกัญชาไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย ต้องเอาใจใส่ดูแลเหมือนเลี้ยงเด็ก ต้องรู้วิธีปลูกวิธีดูแล เช่น การให้น้ำที่ต้องมีเพียงพอแล้ว ต้องเป็นน้ำสะอาดมีออกซิเจนสูง นอกจากจะปลูกพันธุ์ไหมทอง-01 ที่มทร.พระนครมอบหมายให้แล้ว จะปลูกสายพันธุ์พื้นเมืองที่กลุ่มม้งเราคัดสรรสายพันธุ์มานานอีกเกือบ 20 สายพันธุ์ ควบคู่ไปด้วย เพื่อใช้ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบกันต่อไป”
ดร.บัณฑิตกล่าวเชิญชวนด้วยว่า ไร่กัญชาของวิสาหกิจชุมชนสุขภาพชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงราย มีขนาด 300 ไร่ พร้อมเปิดรับให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน การปลูกกัญชงกัญชา ซึ่งมั่นใจว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีมรดกองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญไม่แพ้ใคร เพื่อต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :