จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดประชุมเตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย (Hospitel) เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชาวอยุธยา ในการรองรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ขณะที่บรรยากาศวันสงกรานต์กรุงเก่าเงียบเหงา
วันที่ 13 เมษายน 2564 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมไทรงาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมด้วย นายพีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และวัสดุอุปกรณ์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ที่ประชุมได้ติดตามผลการจัดเตรียมความพร้อมของศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย (Hospitel) และขอขยายเวลาการใช้สถานที่ของมหาวิทยาราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ออกไปตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 คาดว่าพร้อมรับผู้ป่วยจาก Cohort ward ได้ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน นี้ และการจัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม ที่มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ศุนย์หันตรา ซึ่งคาดว่าพร้อมรับผู้ป่วย ได้ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน นี้ ตลอดจนชี้แจงแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโรโรนา 2019
นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมไว้ เพื่อใช้เป็นสถานที่กักกันรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 ที่มีอาการไม่รุ่นแรง รวมถึงใช้เป็นพื้นที่ควบคุมผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ และกลุ่มที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ตรวจดูสถานที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา พบว่า มีความพร้อมทั้งในเรื่องสถานที่ ที่พัก อยู่ห่างไกลชุมชน มีระบบการดูแลความปลอดภัย สามารถทำเป็นสถานที่ปิดได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ทำเป็นโรงพยาบาลสนาม
อย่างไรก็ตาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังไม่มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้โรงพยาบาลสนาม เพียงแต่เป็นการเตรียมความพร้อมไว้ จำนวน 50-100 เตียง หากเกิดสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ขึ้นจริง จะมีสถานที่โรงพยาบาลสนามไว้รองรับในการดูแลรักษาผู้ป่วย สูงสุดถึง 300 เตียง ซึ่งต้องใช้เวลาในการดูแลถึง 14 วัน หากมีความจำเป็นต้องใช้เป็นโรงพยาบาลสนามจริง จะมีการกั้นเป็นอาณาเขตแยกโซนออก เพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชน และขอฝากถึงทุกท่านว่าโรงพยาบาลสนามมีความจำเป็นสำหรับทุกจังหวัด เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ต่อไป
ขณะที่บรรยากาศสงกรานต์กรุงเก่าเงียบเหงา วัดดังงดจัดกิจกรรม หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยปกติดวันที่13 เมษายน ของทุกปี หรือวันสงกรานต์ปีใหม่ไทย วัดใหญ่ชัยมงคล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เดิมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะจัดพิธีสรงน้ำพระด้านหน้าพระอุโบสถ ซึ่งมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น จะมีประชาชนเดินทางเข้ามากราบไหว้สักการะขอพรพระอย่างต่อเนื่อง
แต่ปีนี้ ไม่คึกคักเหมือนปีก่อน ๆ เนื่องจากทางวัดใหญ่ชัยมงคล ได้ประกาศปิดให้เข้ากราบไหว้พระภายในวัด ตั้งแต่วันที่ 9 - 22 เมษายน 2564 สืบเนื่องจากมีไทม์ไลน์นักท่องเที่ยวที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ เดินทางมาที่วัดใหญ่ชัยมงคล อีกทั้งการเดินทางไปรวมตัวในสถานที่ท่องเที่ยวก็สุ่มเสี่ยงติดเชื้อกลับมา การเข้าวัดทำบุญ ไหว้พระขอพรจากพระคู่บ้านคู่เมือง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ จึงมีเพียงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมโบราณสถาน เจดีย์ชัยมงคลบ้างประปราย และยืนไหว้พระด้านหน้าอุโบสถเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้วัดใหญ่ชัยมงคลจะปิดชั่วคราว แต่โบราณสถานและวัดอื่นๆ ยังคงเปิดให้บริการปกติ โดย ขอความร่วมมือพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ตรวจวัดไข้อุณหภูมิ สแกนแอฟฯ ไทยชนะ และหลีกเลี่ยงไปพื้นที่เสี่ยง เพื่อความปลอดภัยและร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
ที่มา สนง.ปชส.พระนครศรีอยุธยา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง