กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดพิธีมอบเกียรติบัตร อุทยานธรณีสตูล หลังได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก(UNESCO Global Geoparks)
วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2561 เวลา 08.30 น. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรธรณี จัดพิธีมอบเกียรติบัตรอุทยานธรณีสตูล หลังได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบจาก Dr. Benno Boer (Chief of Natural Sciences of UNESCO Bangkok office) ผู้แทนสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ความตอนหนึ่งของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวออกอากาศในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2561 เวลา 20.15 น. กล่าวว่า “ผมขอยกตัวอย่าง โครงการด้านการท่องเที่ยวและบริการ “ระดับท้องถิ่น” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่เราควรให้ความสนใจ ได้แก่ “อุทยานธรณีโลก” ในจังหวัดสตูลที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ที่ผ่านการประเมินหลักเกณฑ์ของ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อ 17 เมษายนที่ผ่านมานับเป็นอุทยานธรณีโลก แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีซากฟอสซิล ชั้นหิน ชั้นดิน ซึ่งเป็นจุดน่าสนใจทางธรณีวิทยา อีกทั้ง มีเทือกเขาหินปูน ถ้ำ เกาะ ชายหาด และล่องแก่ง ที่เป็นจุดขาย สำหรับนักท่องเที่ยว
ทั้งหมดนี้ กลไกประชารัฐและชุมชน ต้องร่วมกันวางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ การต้อนรับผู้มาเยือน การเป็นเจ้าบ้านที่ดี ดูแลเรื่องราคา และความปลอดภัยต่าง ๆ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ณ แหล่งท่องเที่ยว อาทิ เส้นทางจราจร พื้นที่จอดรถ เขตสุขาภิบาล การโซนนิ่งพื้นที่ เราต้องพิจารณาให้ครบวงจร เป็นขั้นเป็นตอน ให้ได้มาตรฐาน ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง เริ่ม “ระเบิดจากข้างใน” และชุมชนต้องช่วยกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ทรุดโทรม เพราะจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ นำรายได้มา สู่ชุมชนของท่าน โดยรัฐบาลก็จะเข้าไปสนับสนุนในภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคด้วย”
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณีเริ่มส่งเสริมการพัฒนาอุทยานธรณีสตูลตั้งแต่ปี 2553 ครอบคลุม 4 อำเภอ คือ อำเภอทุ่งหว้า ละงู มะนังและอำเภอเมือง โดยจังหวัดได้จัดตั้งเป็นอุทยานธรณีสตูล เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ได้รับประกาศเป็น “อุทยานธรณีระดับประเทศ” ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรี เห็นชอบเสนอให้อุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับแจ้งผลการพิจารณารับรองอุทยานธรณีสตูล เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก อย่างเป็นทางการผ่านหน้าเว็บไซต์ www.unesco.org ประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก (Satun UNESCO Global Geoparks) นับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่เรามี อุทยานธรณีระดับโลกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จัดเป็นประเทศในลำดับที่ 38 ของโลกและเป็นประเทศที่ 5 ของอาเซียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึง ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นอุทยานธรณีระดับโลกว่า เมื่อ UNESCO ประกาศรับรองขึ้นทะเบียน และเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายอุทยานธรณีโลก จะทำให้อุทยานธรณีสตูลเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้น จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมกันมากขึ้น เป็นการสร้างเศรษฐกิจ สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สร้างรายได้แก่ชุมชน ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตามแบบวิถีชุมชน ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงธรณี (Geotourism) จะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และความเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวทางธรณีวิทยาที่แฝงอยู่ตามสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม และตามแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยาต่างๆ ในบริเวณอุทยานธรณีซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้ ตลอดจนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ระหว่างสมาชิกเครือข่ายของอุทยานธรณีโลก มีนักวิทยาศาสตร์จากในและต่างประเทศเข้ามาศึกษาแหล่งทางธรณีวิทยาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาการศึกษาแก่ชุมชนและท้องถิ่น
ดร.ทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า อุทยานธรณีสตูลเป็นการทำงานในรูปแบบ “ประชารัฐ”เกิดขึ้นจากความต้องการของคนในพื้นที่จังหวัดสตูลที่มีแหล่งมรดกทางธรณีวิทยาที่ทรงคุณค่า และมีความสำคัญหลายแห่ง เช่น ถ้ำเล-สเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต น้ำตกวังสายทอง ปราสาทหินพันยอด ฯลฯ โดยการสนับสนุนทางวิชาการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี จังหวัดสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยชุมชนและองค์กรท้องถิ่นที่มีแหล่งมรดกทางธรณีเหล่านี้ได้รวมตัวกันพัฒนาเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์แหล่ง มีการพัฒนา การบริหารจัดการ การศึกษาและการสื่อความหมายแหล่ง การท่องเที่ยวและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือกันระหว่างชุมชน/อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานธรณีสตูลและมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บริเวณปราสาทหินพันยอด ซึ่งเป็นการผสานกันอย่างลงตัว การผลิตสินค้าพื้นเมือง อาทิ ผ้าบาติกลวดลายซากดึกดำบรรพ์ การจัดงานสตูลฟอสซิลเฟสติวัลประจำปีโดยท้องถิ่น ก่อให้เกิดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรณี และสร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
อุทยานธรณีสตูลมีคุณค่าด้านธรณีวิทยาโดดเด่นในระดับโลก ที่ได้รับการพิจารณาเป็นอุทยานธรณีโลก คือ บริเวณของผืนแผ่นท้องทะเลดึกดำบรรพ์อายุกว่า 500 ล้านปีที่เก่าแก่ที่สุดของไทย มีความหลากหลายสายพันธุ์ของ ซากดึกดำบรรพ์ อันเป็นแหล่งบันทึกประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วง 540 – 250 ล้านปีก่อน รวมถึงการค้นพบชั้นหินปูนสาหร่ายสโตมาโตไลท์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซอ๊อกซิเจนของโลกในอดีต แผ่นท้องทะเลดึกดำบรรพ์แห่งนี้ ได้สมญานามว่า “ฟอสซิลแลนด์แดนสตูล” ต่อมาเกิดการเคลื่อนที่และยกตัวขึ้นเปลี่ยนสภาพจากผืนทะเลสู่สภาพภูมิประเทศเทือกเขาหินปูน เกาะแก่ง และถ้ำจำนวนมากมายที่มีรูปร่างสวยงามแปลกตา เฉกเช่นที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมรดกทางธรรมชาติเหล่านี้ผูกพันเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่ตั้งแต่ อดีตจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ศักยภาพในการเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ หรือระดับโลก อีกหลายแห่ง อาทิ 1) อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี 2) อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก จังหวัดตาก 3) อุทยานธรณีโคราช จังหวัดนครราชสีมา 4) อุทยานธรณีขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งขณะนี้อุทยานธรณีโคราชและอุทยานธรณีผาชัน - สามพันโบก ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาประเมินการเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศแล้ว และมีแผนที่จะผลักดันเสนอให้เป็นเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกในอนาคตอันใกล้ต่อไป