‘ดร.สามารถ’ชี้ ทางออก ‘วิกฤตสุวรรณภูมิ’ ใช้ ‘เงิน-เวลา’ น้อยกว่า แต่ถูกเมิน!

06 ก.ย. 2562 | 14:25 น.

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte" ในวันนี้ (6 ก.ย.) แสดงความเห็น โดยระบุว่า การที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ดึงดันที่จะก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท หรือที่เรียกกันว่าเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) ให้ได้นั้น จะทำให้ความจุของสนามบินสุวรรณภูมิไล่ตามปริมาณผู้โดยสารซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปีไม่ทันอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2561 สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสาร 62.8 ล้านคน ในขณะที่มีความจุ 45 ล้านคนต่อปี ทำให้สนามบินแน่นแออัด ทอท.ได้คาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 73 ล้านคน ในปี พ.ศ.2565 และ 82 ล้านคน ในปี พ.ศ.2568 (จากรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 โดย ทอท.)
‘ดร.สามารถ’ชี้ ทางออก ‘วิกฤตสุวรรณภูมิ’ ใช้ ‘เงิน-เวลา’ น้อยกว่า แต่ถูกเมิน!
การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) จะต้องใช้เวลาประมาณ 6 ปี รวมเวลาที่ใช้ในการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ นั่นคือ ทอท.จะมีเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) ที่พร้อมจะใช้งานได้ราวๆ ปลายปี พ.ศ.2568 แต่เมื่อเปิดให้ใช้งานแล้ว เทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) ก็ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปีตามความต้องการของ ทอท.ได้แน่นอน เพราะเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) มีหลุมจอดเครื่องบินเพียงแค่ 14 หลุม เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปี ทำให้สนามบินมีความจุน้อยกว่าปริมาณผู้โดยสารที่ ทอท.คาดว่าจะมีในปี 2568 คือ 82 ล้านคนอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้สนามบินแน่นแออัดอย่างมาก

หาก ทอท.ยกเลิกการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) แล้วหันมาทำตามแผนแม่บท ด้วยการขยายเทอร์มินัล 1 แทนทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ก็จะแล้วเสร็จ โดยเริ่มขยายด้านตะวันออกก่อน ซึ่งได้ออกแบบและได้รับอนุมัติอีไอเอเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้อนุมัติแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่งก็จะแล้วเสร็จ สามารถเปิดใช้งานได้ในกลางปี พ.ศ.2565 ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 60 ล้านคนต่อปี (45+15) ในขณะที่กำลังขยายด้านตะวันออกอยู่นั้น จะต้องเริ่มออกแบบการขยายด้านตะวันตกควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน หลังจากนั้นจะใช้เวลาขยายด้านตะวันตกอีกประมาณ 2 ปีครึ่ง ก็จะแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ.2565 ทำให้สนามบินมีความจุเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 75 ล้านคนต่อปี (60+15) ซึ่งมากกว่าปริมาณผู้โดยสารที่ ทอท.คาดการณ์ว่าจะมี 73 ล้านคน ในปี พ.ศ.2565 จะทำให้สนามบินไม่แออัด

 

การยกเลิกการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) แล้วหันมาขยายเทอร์มินัล 1 แทนนั้น นอกจากจะทำให้สนามบินสามารถเพิ่มความจุได้ทันกับการเพิ่มของปริมาณผู้โดยสาร ส่งผลให้สนามบินไม่แออัดแล้ว ยังจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึงประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากการขยายเทอร์มินัล 1 จะใช้เงินประมาณ 12,000 ล้านบาท ในขณะที่การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) จะใช้เงินถึง 42,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขยายเทอร์มินัล 1 ตามด้วยการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้บนฝั่งถนนบางนา-ตราดจะทำให้ได้สนามบินที่สมบูรณ์แบบตรงตามแผนแม่บท ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นานาตามมา เช่น ไม่ทำให้รถติดบนมอเตอร์เวย์ ช่วยประหยัดเงินที่จะต้องใช้ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ชั้นที่ 2 ได้ถึง 37,500 ล้านบาท เป็นต้น ดังนั้น จึงชี้ให้เห็นได้ว่าแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งได้จัดทำขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 และมีการปรับแก้เล็กๆ น้อยๆ มาเป็นระยะๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยไม่ได้เพิ่มหรือลดองค์ประกอบหลักดังเช่นเทอร์มินัล เป็นต้น ยังคงความทันสมัย และยังคงใช้งานได้เป็นอย่างดี

เห็นชัดๆ เช่นนี้แล้วว่า การขยายเทอร์มินัล 1 ดีกว่าการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) ทุกประการ แล้วทำไม ทอท.จึงยังดื้อดึงที่จะก่อสร้างเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) ให้ได้ ช่างไม่กลัวว่าเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ) จะทำให้เกิด ‘วิกฤตสุวรรณภูมิ’ เสียเลย อนิจจา!