ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ทำหน้าที่ประธาน ได้พิจารณาญัตติทั่วไป กลุ่มว่าด้วยขอให้สภา ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
ตั้งใจทำให้แบบมีปัญหา?
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส. อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอญัตติเรื่องแรก อภิปรายว่า สภาต้องตรวจสอบบ้านของตนเอง เพราะถูกสังคมตั้งคำถามว่าการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท สัญญาหลัก 900 วัน ที่ต้องแล้วเสร็จ 24 พฤศจิกายน 2558 นั้น มีเหตุผลที่ทำการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและต้องต่อสัญญาไปอีก 4 ครั้ง ทำให้รวมเวลาก่อสร้างอาคารทั้งหมดกว่า 2,000 วัน
ทั้งนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่ขยายสัญญาก่อสร้างให้ผู้รับจ้างนั้นเพราะการแก้ไขแบบ ทั้งที่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถแก้ไขแบบได้โดยใช้เวลาไม่นาน เป็นเพราะมีเจตนาทำให้แบบมีปัญหาหรือไม่ เพื่อเป็นข้ออ้างให้ผู้ว่าจ้างขยายสัญญาผู้รับจ้างโดยไม่ผิดกฎหมาย
“ภท.”หนุนตรวจสอบ
ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย(ภท.) อภิปรายในฐานะผู้เสนอญัตติเรื่องที่ 2 ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกัน ว่า ความพยายามขยายสัญญาก่อสร้างรอบที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562-31 ธ้นวาคม 2563 พบปัญหาสำคัญ คือผู้ปฏิบัติงานในรัฐสภา ไม่ทราบและไม่แจ้งเหตุผลว่างานสร้างไม่แล้วเสร็จเพราะอะไร แต่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภา ระบุว่าเป็นความผิดของทางราชการ ทำให้ต้องขยายเวลาให้เอกชน ขณะเดียวกันพบข้อร้องเรียนจากอดีต ส.ส. ตนจึงสงสัยว่าเป็นเพราะผู้ว่าจ้างหรือผู้รับจ้าง
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของการก่อสร้าง ล่าสุดอยู่ที่ 70% ทั้งที่ตามแผนงานต้องแล้วเสร็จ 95% ขณะที่งานอีก 30% ที่ค้างอยู่พบมีงานอีกหลายอย่าง เช่น ระบบปรับอากาศ, งานระบบสารสนเทศ, สถานีไฟฟ้า,สัญญาณไฟลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นงานจุกจิกที่อาจทำให้งานก่อสร้างหลักเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นต้องตรวจสอบ
ประโยชน์ตกที่ผู้รับจ้าง
จากนั้น เป็นการอภิปรายของ ส.ส. โดยส่วนใหญ่สนับสนุนให้ตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อตรวจสอบ โดย นายฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส. ขอนแก่น พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายในฐานะกมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้เรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ควบคุมงาน บริษัทที่ปรึกษาเข้าให้รายละเอียด พบว่า ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นปัญหาเรื่องดินในพื้นที่และสถานที่นำดินไปทิ้ง รวมถึงการขายดิน มูลค่าของดิน
นอกจากนั้นจากการตรวจสอบล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา พร้อมกับสถาปนิก และวิศวกรในพื้นที่ห้องประชุม และห้องกมธ. ทราบว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนการต่อสัญญาครั้งที่ 4 ที่สัญญาจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นั้น เชื่อว่าอาจมีการต่อสัญญารอบที่ 5 เพราะมีสัญญาด้าน ระบบสาธารณูปโภค ที่จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 5 มีนาคม 2563
ทั้งนี้เชื่อว่าประเด็นที่เกิดขึ้น สภาเสียประโยชน์ เพราะต้องเช่าพื้นที่ภายนอก เพิ่มค่าเดินทางให้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนบุคคลที่ได้ประโยชน์ คือ ผู้รับจ้าง ทั้งนี้การตรวจสอบภายใต้อำนาจของ กมธ.กิจการสภา ไม่สามารถเอาอยู่ ดังนั้นต้องให้ทั้งสภาช่วยตรวจสอบ
เชื่อมีต่อสัญญาครั้งที่ 5
ขณะที่ นายไกลก้อง ไวทยการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า ปัญหาที่ทำให้สภาต้องต่อสัญญางานก่อสร้างออกไปถึงครั้งที่ 4 จากการติดตามงานที่ผ่านมา พบ การขยายสัญญารอบที่ 1 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558-11 ธันวาคม 2559 รวมเวลา 387 วัน งานคืบหน้า 30%, รอบที่ 2 วันที่ 16 ธันวาคม 2559-9 กุมภาพันธ์ 2561 รวมเวลา 421 วัน งานคืบหน้า 45%, รอบที่ 3 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561-15 ธันวาคม 2562 งานคืบหน้า 75% ทั้งนี้ ระยะที่ต่อสัญญาครั้งที่ 2 ความคืบหน้างานเพิ่มเพียง 15%
ปัญหาสำคัญคือการส่งมอบพื้นที่และการขนย้ายดิน แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า พื้นที่ก่อสร้างอาคารหลัก ส่ง มอบแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน แต่มีปัญหาที่ไม่สามารถส่งมอบได้ทันเวลาและล่าช้าที่สุดเพียงพื้นที่ 1 งาน ส่วนของโรงเรียนโยธินบูรณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวกับงานก่อสร้างหลัก ขณะที่การขนย้ายดินแล้วเสร็จ วันที่ 21 มกราคม 2559 ช่วงที่มีปัญหานั้นอยู่ภายใต้การกำกับของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้น ต้องตรวจสอบการกำกับและความจริงใจในยุคดังกล่าว
นายไกลก้อง อภิปรายด้วยว่า การขยายสัญญารอบที่ 4 ช่วง วันที่ 16 ธันวาคม 2562-31 ธันวาคม 2563 นั้น มีเหตุสำคัญ คือ งานนอกระบบสัญญา จากการตรวจสอบพบงานระบบสารสนเทศ หรือ ไอซีที ที่มีมูลค่า 3,000 ล้านบาท ที่มีรายละเอียดงาน 10 ระบบ อาทิ ศูนย์รับส่งสัญญาณดาวเทียม, ไอทีทีวี, ศูนย์คอมพิวเตอร์หลัก, ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์, ระบบห้องเครื่องเสียง, ภาพ, ระบบการลงคะแนนในการประชุมวุฒิสภา, ห้อง ประชุมสภาผู้แทนราษฎร, การพัฒนาระบบแอพพลิเคชันการประชุม เป็นต้น ล่าสุดมีความ คืบหน้าเพียง 40% ทั้งที่ตามแผนต้องแล้วเสร็จ 80%
นอกจากนั้นในงานระบบเน็ตเวิร์ก ที่มีรายการสำคัญคือท่อร้อยสาย พบว่าสภายังไม่สามารถ หาผู้รับจ้างเดินท่อได้ เชื่อว่าเหตุและปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เกิดการต่อสัญญาครั้งที่ 5 ได้
“เพื่อไทย”ผวาเสียค่าโง่
ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปราย ว่า ขอให้กมธ.ศึกษาเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สภาเสียค่าโง่ เพราะมั่นใจว่าการก่อสร้างที่ขยาย สัญญารอบที่ 4 จะไม่แล้วเสร็จ และต้องต่อสัญญาครั้งที่ 5 ปัจจัยสำคัญ คือ การขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ดังนั้นสิ่งที่กมธ.ต้องพิจารณา เพื่ออุดช่องโหว่ที่นำไปสู่การเสียค่าโง่ คล้ายกับคดีคลองด่าน ที่ปี 2549 ไม่มีประเด็นที่จะทำให้เสียค่าโง่ แต่หลังจากนั้นพบการขยายสัญญาและต่อสัญญา พบเงินทอนหมื่นล้านบาท ซึ่งตนไม่อยากให้สภา ต้องเสียค่าโง่
ทั้งนี้ปัญหาที่อาจทำให้ต้องต่อสัญญารอบต่อไป คือ การขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ก่อนรับมอบงาน ทำให้มีงานที่ต้องซ่อม แซมและอาจถูกเรียกค่าเสียหาย ที่สภาต้องเตรียมงบประมาณเพื่อจ่าย ในปี 2563-2564
วัสดุก่อสร้างมีปัญหา
จากนั้นที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เห็นชอบตั้งคณะกรรมา ธิการวิสามัญตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 354 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการ จำนวน 49 คน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานภายใน 60 วัน
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้แสดงความเห็น เห็นด้วยที่มีสมาชิกอภิปราย ชี้ให้เห็นปัญหาวัสดุก่อสร้างหลายจุดที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะห้องนํ้า ที่ออกแบบพื้นห้องนํ้าที่มีความสปรกง่าย ทำให้แม่บ้านต้องคอยทำความสะอาดตลอดเวลา ส่วนห้องนํ้าที่ไม่มีสายฉีดชำระก็ได้ดำเนินการติดตั้งให้เรียบร้อยแล้ว
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,533 วันที่ 22-25 ธันวาคม 2562