สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หลายประเทศยังทวีความรุนแรง ขณะที่บางประเทศเริ่มสถานการณ์ดีขึ้น โดยจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกขณะนี้เพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าล้านคนแล้ว และยังไม่แน่ว่าจะถึงจุดยุติลงเมื่อใด
ความหวังเดียวของเหล่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกขณะนี้คือ วัคซีนโควิด-19 เพื่อนำมาใช้ป้องกันเชื้อโรค แต่ก็ไม่ใช่ง่าย และเร็ว เพราะมีขั้นตอน และต้องใช้เวลาทดสอบ
The NEW ENGLAND JOURNAL of MEDICINE ได้ออกบทความเรื่อง Developing Covid-19 Vaccines at Pandemic Speed ซึ่งมีเนื้อ หาที่น่าสนใจ ดังนี้
เหตุใดการผลิตวัคซีน COVID-19 จึงใช้เวลานาน
เข้าใจว่าทุกคนบนโลกตอนนี้ต่างเฝ้ารอความหวังว่า เมื่อไรจะมีการพัฒนาวัคซีนสำหรับ COVID-19 ออกมาเสียที หลายๆ ข่าวถึงกับบอกว่าเป็นแผนของบริษัทยาหรือบางประเทศที่จะ “กั๊ก” การผลิตเอาไว้สำหรับประเทศตัวเองก่อน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การผลิตวัคซีนสำหรับโรคอะไรก็ตามออกมา เป็นเรื่องที่ยาวนานมาก และถ้าลอง ย้อนกลับไปนึกให้ดีหลายๆ โรคในปัจจุบันที่เราเผชิญอยู่ ก็เพิ่งมีวัคซีนมาไม่กี่ปีนี้เอง เช่น ไข้เลือดออก ชนิดเดงกี หรือบางโรคเราก็ยังไม่สามารถ ผลิตวัคซีนออกมาได้เลย เช่น โรคเอดส์ โรคฟันผุ
ทำไมการผลิตวัคซีนถึงช้ามาก
1. ตัวเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 นี้ จัดเป็นตัวย่อยหนึ่งในหลายๆ ตัวของกลุ่มโคโรนาไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคหวัดในมนุษย์ ถูกค้นพบมาเนิ่นนานตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2503 แล้ว ถ้าการผลิตวัคซีนสำหรับโคโรนาไวรัสทำได้โดยง่าย เราคงมีวัคซีนสำหรับหวัดที่เกิดจากโคโรนาไวรัสมานานแล้ว
นอกจากนี้ เพื่อนของ SARS-CoV-2 อีกสองตัวคือ SARS-CoV-1 ที่ทำให้เกิดโรค SARS ที่ระบาดหนักในช่วงปี 2546 และ MERS-CoV ที่ทำให้เกิดโรค MERS ซึ่งมีอัตราการตายที่สูงมาก ก็ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนที่เอาออกมาใช้ได้เลย มีเพียงแค่ คำว่า “เกือบ” แล้วเท่านั้นเอง แปลว่ามันต้องมีความซับซ้อนอะไรบางอย่างที่ทำให้เรายังไม่สามารถผลิตวัคซีนมาเพื่อใช้กับกลุ่มโคโรนาไวรัสได้
2. ขั้นตอนการผลิตวัคซีนมีหลายขั้นตอนมากๆ และมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลายๆ อย่าง โดยกว่าจะมีวัคซีนออกมาใช้ได้นั้น ต้องมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนของตัวเชื้อเสียก่อน ว่ามันทำให้เกิดโรคได้อย่างไร ถึงจะรู้แนวทางในการผลิตวัคซีนออกมา และต้องมีตัวเชื้อเสียก่อน (ขั้นนี้ เราทำได้แล้ว)
ตัวอย่างเช่น วิธีหนึ่งในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ต้องมีการฉีดตัวไวรัสลงไปในไข่ รอให้มีการเจริญของไวรัส แล้วดูดเอาส่วนของเหลวจากไข่ที่ทางวิชาการเรียกว่า allantoic fluid ออกมา แล้วทำให้สะอาดปราศจากสิ่งปน เปื้อน แล้วต้องเอามาทดสอบในสัตว์ทดลองอีก แล้วต้องเอาตัวไวรัสที่สร้างมาใหม่นี้ไปทดสอบในสัตว์ทดลองก่อนว่าสามารถทำให้เกิดโรคได้จริงๆ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ต้องใช้เวลาไปแล้วส่วนหนึ่ง (แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับโคโรนาไวรัส)
วัคซีนที่นำมาใช้ในปัจจุบันมีรูปแบบหลายอย่างในขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อที่ตายไปแล้ว เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนที่ผลิตจาก
เชื้อที่ยังไม่ตาย เช่น วัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนที่ได้จากสารพิษของเชื้อ เช่น วัคซีนป้องกันบาดทะยัก แต่สำหรับ COVID-19 นั้น ต้องใช้การผลิต วัคซีนแบบใหม่ เพราะตัวไวรัสเองมีโครงสร้างและกลไกในการก่อโรคที่ซับซ้อนมาก
3. ต้องมีการทดลองในมนุษย์ ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลานานมาก เนื่องจากมีการแบ่งแยกย่อยออกไปอีกหลายขั้น (ในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า phase) เช่น ต้องมีการทดลองว่าวัคซีนตัวทดลองนั้นปลอดภัยจริง สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้
นอกจากนี้ยังต้องศึกษา หาปริมาณวัคซีนที่เหมาะสมอีกว่าควรใช้ในปริมาณเท่าไร การทดลองทำในกลุ่มคนน้อยๆ ในช่วงแรก แล้วค่อยขยับไปในกลุ่มคนที่ใหญ่ขึ้น แบ่งเป็นคนที่ได้ และไม่ได้วัคซีน (ได้ยาหลอก) และขั้นสุดท้ายทดลองในคนกลุ่มใหญ่ อาจเป็นหมื่นคน ในแต่ละระยะจำเป็นต้องได้รับการรับรองทางจริยธรรม และใช้ช่วงเวลาช่วงละ 3-6 เดือน
นอกจากนี้การที่ตัวไวรัส SARS-CoV-2 สามารถทำลายปอดโดยตรง และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ด้วยการเกิด cytokine storm (การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป) ยิ่งต้องระมัดระวังเรื่องของปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายให้มากด้วยเมื่อทดลองวัคซีน
ดังนั้น ในขั้นตอนการทดลอง นักวิทยาศาสตร์ผู้พัฒนาวัคซีนต้องคิดให้ดีว่าจะนำส่วนไหนของไวรัสมากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้มีระดับที่พอดี จนไม่ทำร้ายร่างกายตัวเอง (วัคซีนสำหรับโรค SARS และ MERS ที่เป็นเพื่อนของ COVID-19 เอง ก็ยังมีปัญหาตรงนี้ เนื่องจากพบว่ามีโอกาสกระตุ้นการอักเสบของปอดได้)
การตอบสนองของร่างกายเมื่อป่วยเป็น COVID- 19 นั้น มีความแตกต่างไปจากโรคอื่นที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์เคยทราบพอสมควร แล้ววัคซีนที่จะนำมาใช้นั้น จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันไปนานขนาดไหน (คงพอเคยเห็นข่าวที่ว่าผู้ป่วยที่หายแล้ว กลับมาแพร่เชื้อและเป็นซํ้าได้อีก ซึ่งประเด็นตรงนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจริงหรือไม่ ถ้าจริงมีกลไกอย่างไร ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าพบว่าจริง ยิ่งจะแสดงให้เห็นว่าการตอบสนองของร่างกายจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 นั้น ซับซ้อนกว่าที่เราคิด ซึ่งจะส่งผลต่อแง่มุมในการผลิตวัคซีนอย่างมาก)
การทดลองของวัคซีนสำหรับ COVID-19 นี้ ปัจจุบันมีแล้วในหลายประเทศจากหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นที่อเมริกา ซึ่งมีการรับสมัครอาสาสมัครแล้วช่วงแรก 45 คน ในเมืองซีแอทเทิล และกำลังจะขยายการทดลองไปที่รัฐอื่นต่อไป
ในจีนก็เริ่มมีการทำการทดลองแล้วที่อู่ฮั่น ซึ่งการทดลองในมนุษย์ที่อู่ฮั่นคาดว่าจะเสร็จสิ้นปลายปี 2563 นี้ ส่วนที่อังกฤษคาดกว่าการทดลองในสัตว์ทดลองเสร็จสิ้นแล้ว และจะเริ่มการศึกษาในมนุษย์ต้นเดือนนี้ แต่จะต้องติดตามผลการรักษาไปอีกไม่ตํ่ากว่า 6 เดือน
โดยรวมๆ แล้ว คาดการณ์ไว้ว่าถ้าไม่มีปัญหาอะไรเลย วัคซีนสำหรับ COVID-19 จะสามารถออกมาได้ปลายปี 2564 แต่เราก็ยังดีใจไม่ได้ เพราะก็จะยังมีปัญหาเรื่องปริมาณวัคซีนที่ผลิตอีก การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังประเทศต่างๆ อีก เพราะประเทศเดียว หรือบริษัทเดียวไม่สามารถผลิตวัคซีนออกมาได้พอใช้ สำหรับคนทั้งโลก
ที่สำคัญที่สุด คือ การทดลองทางคลินิกนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก การทดลองวัคซีนที่ไม่ได้ผ่านการทดลองในมนุษย์ให้รอบคอบก่อน ทำให้เกิดหายนะกับมนุษย์มาแล้วไม่ว่าจะเป็นการรีบใช้โปลิโอวัคซีน จนทำให้มีคนป่วยเป็นโปลิโอจากวัคซีนแทนถึงหลายหมื่นคน หรือการเกิด Guillain-Barre syndrome ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาต และอาจเสียชีวิตได้หากมีภาวะแทรกซ้อนที่ปอด โดยกลุ่มอาการนี้ สาเหตุหนึ่งคือถูกกระตุ้นให้เกิดจากวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และเกิดความเสียหายอย่างมากในตอนไข้หวัดนก H1N1 ในอเมริกา เมื่อปี 2519
เรามีหวังกับวัคซีน COVID-19 ได้ แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ การดูแลตัวเอง ปฏิบัติตามคำแนะนำทั้งเรื่องสุขอนามัยส่วนตัว เรื่องการ “เว้นระยะห่างกัน-ไม่ชุมนุมกัน” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้ ที่จะลดการติดเชื้อ และการแพร่เชื้อในชุมชน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3566 หน้า 10 วันที่ 16 -18 เมษายน 2562