ทำความรู้จัก "นิรโทษกรรม" คือ อะไร

17 มิ.ย. 2563 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2563 | 09:01 น.

ทำความรู้จักกับ ความหมายของ คำว่า "นิรโทษกรรม"

หลายคนอาจสงสัยความหมายของคำว่า "นิรโทษกรรม" ที่กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมและคอการเมืองกันอีกครั้ง ความหมายจากพจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า นิรโทษกรรม ได้ดังนี้

1.นิรโทษกรรม ตามกฎหมายแพ่ง หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย

บิ๊กตู่ ดัน "นิรโทษกรรม" ดีการเมือง ปลดล็อกประเทศค เว้นทุจริต

2.นิรโทษกรรม ตามกฎหมายอาญา หมายถึง การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

 

กฎหมายนิรโทษกรรม ยังแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1.การนิรโทษกรรมเป็นการทั่วไป หรือ การนิรโทษกรรมโดยเฉพาะเจาะจง เช่น การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดทางการเมือง (Political Offence) ทุกประเภท หรือ ให้เฉพาะแก่ผู้กระทำความผิดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษโดยกำหนดไว้ชัดเจน

และ2.การนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข หรือโดยไม่มีเงื่อนไข กล่าวคือ การนิรโทษกรรมนั้นเป็นการนิรโทษกรรมที่เด็ดขาดหรือไม่ หากเป็นการนิรโทษกรรมที่เด็ดขาดไม่มีเงื่อนไข จะทำให้บุคคลนั้นไม่เป็นผู้กระทำผิดโดยปริยาย แต่หากเป็นการนิรโทษกรรมที่มีเงื่อนไข ผู้ที่กระทำผิดจะต้องปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะได้รับการนิรโทษกรรม

มาถึงบรรทัดนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า "การนิรโทษกรรม" คือ การออกกฎหมายยกเลิกความผิดให้กับผู้ที่กระทำผิด ทำให้ผู้ที่กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ เพราะถือว่า การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ส่วนผู้ที่รับโทษไปแล้วก็ให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด และทางการก็จะไม่รื้อคดีต่างๆที่ได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้วขึ้นมาสืบสวนหาความจริงอีกเพราะกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมานั้นกำหนดให้การกระทำนั้นๆไม่เป็นความผิด

สรุปง่ายๆก็ "การนิรโทษกรรม" คือ การลบล้างความผิดทุกอย่างโดยให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยกระทำผิดมาก่อนเลย  

ข้อมูลจาก ราชบัณฑิตยสถาน และ วิกิพีเดีย