จากกรณีที่เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 มีมติเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จำนวน 27 คน โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมประวัติโดยย่อของกรรมการบริหารชุดใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ดังนี้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อายุ 74 ปี
ชื่อเล่น ป้อม เกิดวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ปัจจุบัน อายุ 74 ปี เป็น "พี่ใหญ่" ของกลุ่มแยกบูรพาพยัคฆ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระหว่างปี 2551 ถึง 2554 และ 2557 ถึง 2562 ผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี 2547 ถึง 2548 อดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และปัจจุบัน เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ อายุ 60 ปี
ชื่อเล่น แฮงค์ เกิด 15 เมษายน พ.ศ. 2503 ที่ตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท มีน้องชายสอง คนชื่อนายอนุสรณ์ นาคาศัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท (ไทยรักไทย พ.ศ. 2548) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาทและนายกสมาคมกีฬาชัยนาท และ นาย อนุรุทธิ์ นาคาศัย เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับพรทิวา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย มีบุตร-ธิดา 2 คน ปัจจุบันได้หย่ากับภรรยา พรทิวา ศักดิ์ศิริเวทย์กุล แล้ว
อนุชา นาคาศัย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท สังกัดพรรคไทยรักไทย และต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 อนุชา นาคาศัย ยังเคยให้การสนับสนุนทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีอดีตภรรยาของตนเป็นเลขาธิการพรรคอีกด้วย ใน พ.ศ. 2561 นายอนุชาได้ย้ายมาร่วมงานกับ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ อายุ 46 ปี
ชื่อเล่น แหม่ม เกิดวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา การทำงาน เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า และเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ก่อนต่อมาได้รับการชักชวนจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้มาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์) ภายหลังลาออกเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป งานการเมือง นางนฤมล ได้เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 ของพรรค และได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาภายหลังลาออกจากตำแหน่งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ นายทะเบียนพรรค อายุ 67 ปี
เกิดวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2495 การทำงาน เคยดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 สภาผู้แทนราษฎรไทย และเคยเป็นเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ในปี 2559 - 2561 งานการเมือง นายบุญสิงห์ เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยเริ่มจากการเมืองท้องถิ่น ด้วยการเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ในปี 2543 - 2562 ต่อมาได้เข้าสู่การเมืองระดับชาติ ได้ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 13 ในนามพรรคพลังประชารัฐ และได้รับการเลือกตั้ง
นายสันติ พร้อมพัฒน์ อายุ 68 ปี
เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 ปัจจุบัน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยแบบบัญชีรายชื่อ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อายุ 54 ปี
เกิดวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีชื่อเล่นว่า "ตั้น" ปัจจุบัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตประธานสโมสรทีมฟุตบอลบางกอกเอฟซี
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 65 ปี
เกิดวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2497 ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ กรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) และประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตรและอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อายุ 65 ปี
เกิดวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2498 ที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มสามมิตร หรือ กลุ่มวังน้ำยม และ กลุ่มมัชฌิมาเดิม กลุ่มอดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย อดีตรัฐมนตรี 4 กระทรวงนอกจากนี้ยังเป็น กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และอดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคม
นายสมศักดิ์ เคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แต่ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยการจัดตั้ง กลุ่มมัชฌิมา จาก ส.ส.กลุ่มวังน้ำยมเดิม ที่ลาออกจากพรรคไทยรักไทยก่อนการตัดสินคดียุบพรรค
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อายุ 51 ปี
เกิด 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อายุ 54 ปี
เกิด 18 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เดิมมีชื่อว่า ยุทธภูมิ โบพรหม, พชร โบพรหม, พชร พรหมเผ่า และมนัส พรหมเผ่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขต 1 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2562 ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรคพลังประชารัฐ
ธรรมนัสเริ่มงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทยเมื่อปี พ.ศ. 2542 ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย แต่การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ ต่อมาเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจ เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ คสช. มีคำสั่งเรียกมารายงานตัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ธรรมนัสได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขตที่ 1 โดยชนะอรุณี ชำนาญยา เจ้าของพื้นที่เดิมจากพรรคเพื่อไทย
ก่อนหน้าที่จะเป็นนักการเมือง ธรรมนัสเคยเป็นประธานกรรมการบริษัทในเครือธรรมนัสกรุ๊ป ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ที่สำคัญคือการถือหุ้นใน บจก.รักษาความปลอดภัย ที.พี.การ์ด ซึ่งมีพลเอกไตรรงค์ อินทรทัต อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท และ หจก.ขวัญฤดี ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรายใหญ่ นอกจากนี้ธรรมนัสยังเคยเป็นประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดพะเยาอีกด้วย
นายวิรัช รัตนเศรษฐ 62 ปี
เกิดวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 ปัจจุบัน เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมาหลายสมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา เคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคมหาชน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 32 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 26 จากนั้นใน พ.ศ. 2561 นายวิรัชได้ย้ายมาร่วมงานกับ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับนางทัศนียา นายอธิรัฐ และนายทวิรัฐ บุตรชายคนโตและบุตรชายคนที่ 2 นอกจากนี้นายวิรัชยังได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มการเมืองกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า "กลุ่มพลังโคราช" ร่วมกับ 6 อดีต ส.ส. ได้แก่ นาย จำลอง ครุฑขุนทด, นาย สุภรณ์ อัตถาวงศ์, นาย บุญจง วงศ์ไตรรัตน์, นาย อัสนี เชิดชัย, นาย ภิรมย์ พลวิเศษ และ พ.ต.ท. สมชาย เพศประเสริฐ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อายุ 66 ปี
เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2497 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในอดีตสังกัดพรรคประชาชนปฏิรูป อดีตสมาชิกวุฒิสภา, เป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเป็นอดีตนายกสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า อดีตประธานมูลนิธิอีพีเอธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป
ไพบูลย์เป็นสมาชิกวุฒิสภาสองวาระ โดยวาระแรกจากการสรรหาภาครัฐ ดำรงตำแหน่งเต็มวาระ ระหว่างปี พ.ศ. 2551 - 2554 และวาระที่สองจากการสรรหาภาคอื่น[4] ดำรงตำแหน่งปี พ.ศ. 2555 - 2557 ในระหว่างการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เขาได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและประสานงานกลุ่ม 40 สว. ทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตามกระบวนการภายใต้รัฐธรรมนูญ ในหลายรัฐบาล เพื่อให้ระบอบการปกครองอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม และเป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป
นายสุชาติ ชมกลิ่น อายุ 45 ปี
ชื่อเล่น เฮ๊ง เกิดวันที่ 15 กรกฎาคม 2517 การศึกษา ระดับปวส การบัญชี วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก ( อี.เทค ) ระดับ ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกริก อดีตเลขาธิการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ประธานกรรมการบริษัทก้าวไกลมหานคร ประธานกรรมการบริษัท 99 กะรัตกรุ๊ป จำกัด ประธานกรรมการบริษัท 99 กะรัตดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดประธานกรรมการบริษัท 99 กะรัตแลนด์ จำกัด หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองใหม่เซาว์น่า ได้รับเลือกเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ปี 2551และปี 2554 เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังชล
นายอิทธิพล คุณปลื้ม อายุ 46 ปี
เกิดวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ที่จังหวัดชลบุรี ปัจจุบัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ อดีตนายกเมืองพัทยา เกิดที่จังหวัดชลบุรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี 2 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2551 สังกัดพรรคชาติไทย, พรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย
เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต่อมาจึงได้หันมาทำงานการเมืองท้องถิ่น โดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยา และได้รับเลือกตั้งถึง 2 สมัย ใน พ.ศ. 2561 เขาเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ และเขาลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรีในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยได้รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 จึงได้รับโปรดเกล้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี อยู่ในบังคับบัญชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อายุ 48 ปี
เกิด 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ปัจจุบันเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัด พรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสิงห์บุรี สังกัดพรรคชาติไทย งานการเมือง ชัยวุฒิ เข้าสู่งานการเมืองโดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสิงห์บุรี ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการการเงินการคลัง สภาผู้แทนราษฎร ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทย และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ได้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดสิงห์บุรี สังกัดพรรคชาติไทย และชนะการเลือกตั้ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 ในปี พ.ศ. 2557 หลังจากสิ้นสุดการตัดสิทธิทางการเมือง ก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสิงห์บุรี ใน พ.ศ. 2561 นายชัยวุฒิได้ย้ายเข้ามาสังกัด พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค
นายสุพล ฟองงาม อายุ 57 ปี
เกิด 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหนึ่งในอดีตแกนนำแนวร่วมเผด็จการเพื่อประชาธิปไตยในภาคอีสาน
ตำแหน่งทางการเมือง สุพล ฟองงาม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ต่อมาหลังจากรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่ง นายสุพล ฟองงาม ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง ในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย
นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 39 ปี
เกิด 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 ชื่อเล่น โฟม ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เป็นบุตรของนายโกมล และ นางยาใจ จึงรุ่งเรืองกิจ โดยเป็นหลานชายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา จากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จาก คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต สมรสกับ นางกรณ์ภัสสร จึงรุ่งเรืองกิจ มีบุตร 1 คน
การทำงาน พงศ์กวิน เริ่มต้นทำงานด้านการบริหารธุรกิจ ด้วยตำแหน่งประธานกรรมและกรรมการบริษัท อาทิ บริษัท จีเดค จำกัด, บริษัท ไออีซี กรีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด, บริษัท ไออีซี บิซิเนส พาร์ทเนอร์ส จำกัด และบริษัท ไออีซี สระแก้ว 1 จำกัด งานการเมือง พงศ์กวิน เข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เมื่อ พ.ศ. 2561 ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปีถัดมา
นายชาญวิทย์ วิภูศิริ อายุ 45 ปี
เกิด 23 กันยายน 2518 ปัจจุบันเป็นส.ส. เขต 15 มีนบุรี-คันนายาว กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ลูกชายของนายอัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียนจบ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมไฟฟ้า) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (Computer Engineering) THE PENNSYLVANIA STATE UNIVERSITY ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) สถาบันพระปกเกล้า
นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อายุ 46 ปี
เกิดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2517 เป็นส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เลขานุการนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เคยเป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และเคยเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ปี 2548 ลำดับที่ 59 การศึกษา บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการเงินและการธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายนิโรธ สุนทรเลขา อายุ 67 ปี
เกิดวันที่ 19 เมษายน 2496 ปัจจุบันเป็น ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และเคยเป็นสภาผู้แทนราษฏร สมาขิกสภาผู้แทนราษฎร 3 สมัย สมาชิกสภาจังหวัด 2 สมัย ประสบการณ์ที่สำคัญ เป็นที่ปรึกษา รมต.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา การศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายไผ่ ลิกค์ อายุ 42 ปี
เกิด 20 เมษายน พ.ศ. 2521 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำแพงเพชร เขต 1 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เป็นบุตรของนายเรืองวิทย์ ลิกค์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงและสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กับนางปราณี โชติรัชต์กุล มีน้องชาย คือ นาย ภูผา ลิกค์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนิเทศศาสตรบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อแรกสำเร็จการศึกษาได้กลับมาสานต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว แต่ด้วยความที่ชอบเครื่องจักรและยานยนต์มาตั้งแต่เด็ก จึงได้คิดเริ่มขยายธุรกิจมายังแวดวงรถยนต์และเต๊นท์รถมือสอง ที่มาของชื่อ "ไผ่ วันพอยท์"นั้น ปรากฏชื่อเข้าร่วมแข่งขันอยู่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตมากหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นรายการแข่งเซอร์กิต, แดร๊ก, ดริฟท์หรือยิมคาน่า โดยนายไผ่เป็นหนึ่งในนักแข่งของทีมวันพอยท์ จึงเป็นที่มาของฉายา ไผ่ วันพอยท์
งานการเมือง หลังจากที่บิดาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองพร้อมกับกลุ่มบ้านเลขที่ 111 ไผ่ จึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 สังกัดพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาปี พ.ศ. 2554 ลงสมัครอีกครั้งและได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก โดยเอาชนะนายสุขวิชชาญ มุสิกุล บุตรชายนายปรีชา มุสิกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ และเข้าดำรงตำแหน่งโฆษกคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร
นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ อายุ 39 ปี
เกิด 23 ตุลาคม 2524 หรือ ส.ส.บีลา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 จ.นราธิวาส มีกลุ่มการเมืองชื่อว่า "กลุ่มเพื่อนบีลา" ประสบการณ์ที่สำคัญ ปี พ.ศ. 2551-2561 สมาชิกสภาเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก การศึกษา - มัธยมศึกษาตอนปลาย ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอสุไหงโก-ลก
นอกจากนี้ยังเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการ กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนฯ , กรรมาธิการ กมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนฯ , กรรมาธิการ กมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาการใช้เงินเพื่อแก้ไขผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนา-2043
นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ อายุ 51 ปี
เกิดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ อาชีพก่อนได้รับเลือกตั้งครั้งนี้เป็น ข้าราชการ ตำแหน่ง นายกเทศมนตรีตำบลเทพสถิต โดยมีประสบการณ์ที่สำคัญ คือ เป็นนายกเทศมนตรีเทพสถิต 4 สมัยการศึกษา บริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ครุศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
นายสุรชาติ ศรีบุศกร อายุ 54 ปี
เกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2515 หรือ “ ส.ส.ไก่” ส.ส.พิจิตร เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ การศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์) สถาบันราชภัฎกำแพงเพชร อาชีพก่อนได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นนักการเมืองท้องถิ่น โดยมีประสบการณ์ที่สำคัญ คือเคยรับราชการตำแหน่ง นายช่างโยธา เคยดำรงตำแแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร
นายนิพันธ์ ศิริธร อายุ 64 ปี
เกิดวันที่ 4 กรกฎาคม 2499 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต1 ตรัง พรรคพลังประชารัฐ การศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิตทางรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อาชีพก่อนได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ เป็น ข้าราชการบำนาญ ตำแหน่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ประสบการณ์ที่สำคัญ ปี 2543 นายอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ปี 2546 นายอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ปี 2553 นายอำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ปี 2557 ปลัดจังหวัดตรัง ปี 2559 รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง
นายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 42 ปี
เกิดวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ปัจจุบัน เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นบุตรชายของพลเอกวินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นายสกลธี ลงเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 นายสกลธี ลงสมัครในกรุงเทพมหานคร เขต 4 คือ เขตจตุจักร, บางซื่อ, หลักสี่ คู่กับนายบุญยอด สุขถิ่นไทย และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้ง 3 คน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 นายสกลธี ได้ลงสมัครในกรุงเทพมหานคร เขต 11 คือ เขตหลักสี่ โดยมีคู่แข่งคือ นายสุรชาติ เทียนทอง บุตรชายของนายเสนาะ เทียนทอง ผลปรากฏว่า ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ในปี พ.ศ. 2561 ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 1215/2561 ลงนามโดย พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง สืบต่อจาก พลตำรวจเอกชินทัต มีศุข ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561 ในวันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561 เขาได้ไปร่วมงานเปิดตัว พรรคพลังประชารัฐ กระทั่งวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคพลังประชารัฐ ประจำปี 2562 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ นายสกลธีได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค
นางประภาพร อัศวเหม
แกนนำกลุ่มปากน้ำก้าวหน้า ที่เป็นการสานต่อกลุ่มการเมืองของตระกูลอัศวเหม ปัจจุบันมี นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เป็นแกนนำกลุ่มคนสำคัญ แต่ปัจจุบันนายชนม์สวัสดิ์ผันตัวเองไปเป็นประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง